ทีมสำรวจฟอสซิลไทยพบรอยตีนไดโนเสาร์เก่าแก่สุดในประเทศ

ทีมสำรวจฟอสซิลไทยพบรอยตีนไดโนเสาร์เก่าแก่สุดในประเทศ

12-02-2024
1

คณะสำรวจฟอสซิลไทยพบแนวทางเดินรอยตีนไดโนเสาร์เก่าแก่กลุ่ม เทอโรพอด อยู่บนชั้นหิน บริเวณน้ำตกตาดใหญ่ในเขตรอยต่อระหว่างเพชรบูรณ์ และขอนแก่น เชื่อเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของวิวัฒนาการไดโนเสาร์ไทย

1

 

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา คณะสำรวจฟอสซิล โดยกรมทรัพยากรธรณีร่วมกับหน่วยวิจัยไดโนเสาร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญผ่านเพจเฟสบุค Baan Dino เป็นการค้นพบรอยตีนเก่าแก่บนลานหินแห่งหนึ่งในบริเวณน้ำตกตาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ข้อมูลที่ได้มีการเปิดเผยชี้ว่ารอยที่พบเป็นแนวทางเดิน (Track Way) พบเป็นรอยตีนลักษณะ 3 นิ้ว ปลายแหลม อันเป็นลักษณะเฉพาะของไดโนเสาร์กลุ่ม เทอโรพอด ที่อาจมีอายุเก่าแก่ถึง 210 ล้านปี และเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่ช่วยยืนยันว่านิเวศวิทยาบรรพกาลในหมวดหินห้วยหินลาด ซึ่งเป็นหมวดหินที่อยู่ล่างสุดของกลุ่มหินโคราช กลุ่มหินสำคัญในภาคอีสานของไทย มีไดโนเสาร์อยู่

2

 

ประเทศไทยมีการค้นพบไดโนเสาร์มาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์รวมถึงสัตว์ร่วมยุคทั้งประเภทซาก (เช่น กระดูก ฟัน) และร่องรอย (เช่น รอยตีน) ในชั้นหินมหายุคมีโซโซอิก ตั้งแต่ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย ถึงยุคครีเทเชียสตอนต้น การค้นพบรอยตีนไดโนเสาร์ สามารถพบในหมวดหินน้ำพอง อายุยุคไทรแอสซิกตอนปลาย จนถึงหมวดหินโคกกรวด อายุยุคครีเทเชียสตอนต้น แต่ยังไม่เคยมีรายงานการค้นพบหลักฐานของไดโนเสาร์ในหมวดหินห้วยหินลาด ที่วางตัวอยู่ล่างสุดของมหายุคมีโซโซอิก หมวดหินห้วยหินลาดจัดเป็นหมวดหินลำดับเก่าแก่ที่สุดของกลุ่มหินโคราช ฟอร์มตัวขึ้นในยุคไทรแอสสิค (อยุประมาณ 210 ล้านปี) ซึ่งเป็นยุคเริ่มแรกของการเกิดขึ้นของไดโนเสาร์ ซึ่งถัดจากยุคนี้ก็คือยุคจูแรสสิค หรือที่เราคุ้นเคยกับชื่อยุคแห่งไดโนเสาร์ ซึ่งก็จะมีหมวดหินภูกระดึงฟอร์มตัวขึ้นทับหมวดหินเดิมลงไป โดยที่ผ่านมาหมวดหินห้วยหินลาดนี้มีร่องรอยสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์หลายชนิด ตั้งแต่พืชโบราณ ปลา เต่า ไปจนถึงสัตว์ดึกดำบรรพ์กลุ่มอาโคซอร์ที่ลักษณะคล้ายจระเข้ แต่ก็ยังไม่เคยพบหลักฐานการมีอยู่ของไดโนเสาร์กลุ่มใดมาก่อนเลย การค้นพบนี้จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่านิเวศวิทยาบรรพกาลในหมวดหินห้วยหินลาดของไทย เคยมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่ ถือว่าเป็นหลักฐานของการมีอยู่ของไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และอาจจะเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียเลย การสำรวจในช่วงปี 2565-2566 จนถึงปัจจุบัน คณะสำรวจฯ ได้ค้นพบแหล่งซากดึกดำบรรพ์รอยตีนแหล่งใหม่บริเวณน้ำตกตาดใหญ่ในเขตรอยต่อระหว่างอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น พบว่าเป็นรอยตีนของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มอาร์โคซอร์ และรอยตีนที่คาดว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด จึงทำการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยเรื่อยมาและสิ่งนี้จะนำมาซึ่งการศึกษาที่จะช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการและการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ในยุคไทนแอสสิคของไทยมากยิ่งขึ้น

 

3

 

34

 

ที่มาของข้อมูลและภาพ

ดร.สุรเวช สุธีธร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

และว่าที่ร้อยตรีกฤษณะ สุดชา นักธรณีวิทยา ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง กรมทรัพยากรธรณี

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

เพจเฟสบุ๊ก Baan Dino

 

เรียบเรียงโดย ศักดิ์ชัย จวนงาม นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ