นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการกำจัดไมโครพลาสติกจากน้ำดื่ม ลดการสะสมในร่างกายและความเสี่ยงต่อสุขภาพ
งานวิจัยตีพิมพ์ใน Environmental Science & Technology Letters โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์กวางโจวและมหาวิทยาลัยจี่หนาน ประเทศจีน ระบุถึงการทดสอบทั้งน้ำอ่อนและน้ำกระด้างที่อุดมด้วยแร่ธาตุอย่างน้ำประปา โดยเติมนาโนพลาสติกและไมโครพลาสติก (NMPs) เข้าไป นำมาต้มแล้วกรองตะกอนออก พบว่า สามารถกำจัดนาโนพลาสติกและไมโครพลาสติกได้สูงถึง 90% โดยมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำที่นำมาทดสอบ นับเป็นวิธีการดูแลสุขภาพที่ผู้คนสามารถทำได้เองจากครัวที่บ้าน ช่วยลดความเสี่ยงจากการบริโภคพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่ม
โดยปกติ หากต้มน้ำประปาซึ่งเป็นน้ำกระด้างจะทำให้เกิดตะกอนหินปูน (Calcium carbonate) เหมือนที่สะสมเป็นคราบตะกรันในกาต้มน้ำ เช่นเดียวกับการทดลองนี้ที่ความร้อนทำให้อนุภาคหินปูนแยกตัวออกมาจากสารละลายแล้วไปจับตัวอยู่บนพื้นผิวของพลาสติก นับเป็นการดักจับเศษพลาสติกปนเปื้อนเกือบทั้งหมดไว้ในตะกอนหินปูนซึ่งสามารถกรองออกจากน้ำด้วยตะแกรงสแตนเลสแบบที่ใช้กรองชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในกรณีของน้ำอ่อนที่มีปริมาณหินปูนน้อยกว่า พบว่า การต้มน้ำและกรองสามารถดักจับเศษพลาสติกได้น้อยกว่าตามไปด้วย
การศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณของเศษพลาสติกชนิด PS (Polystyrene), PE (Polyethylene), PP (Polypropylene) และ PET (Polyethylene Terephthalate) ปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปาดื่มได้ เพื่อให้การศึกษาในครั้งนี้คลอบคลุมมากขึ้น ทีมนักวิจัยได้เติมนาโนพลาสติกเข้าไปในน้ำที่นำมาทดสอบด้วย ซึ่งปรากฎว่าการต้มและกรองสามารถลดประมาณนาโนพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ได้เช่นกัน
แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าพลาสติกเหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับร่างกายมากเพียงใด แต่การบริโภคพลาสติกคงจะไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อสุขภาพ ข้อมูลที่ผ่านมาบ่งชี้ว่าพลาสติกมีความเกี่ยวข้องกับไมโครไบโอมในลำไล้และการดื้อยาปฏิชีวนะของร่างกาย โดยทีมวิจัยยังคงศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการต้มน้ำในการป้องกันการรับสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย การดื่มน้ำต้มสุกอาจกลายเป็นวิถีปฏิบัติที่แพร่หลายไปทั่วโลกเพื่อรับมือกับไมโครพลาสติกที่กำลังมีผลกระทบต่อผู้คนมากขึ้น
แหล่งที่มาของข่าว https://doi.org/10.1021/acs.estlett.4c00081 https://www.sciencealert.com/theres-a-surprisingly-simple-way-to-remove-microplastics-from-your-drinking-water
เรียบเรียงโดย
แก้วนภา โพธิ
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ