“เดลต้าพลัส” ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์แบบใหม่

“เดลต้าพลัส” ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์แบบใหม่

29-04-2022
“เดลต้าพลัส” ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์แบบใหม่

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-57564560

ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 กระทรวงสาธารณสุข ประเทศอินเดีย ได้ทำการเตือนเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์ ชื่อว่า เดลตาพลัส (Delta Plus หรือ Delta-AY.1) หลังจากพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวทั่วโลกตั้งแต่เดือนมีนาคม นอกจากนี้ยังพบผู้มีประวัติการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในประเทศออสเตรเลีย ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าพลัสอีกด้วย

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เดลตาพลัส ต่างจากสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย เนื่องจากเกิดกลายพันธุ์ของโปรตีนตรงส่วนหนาม (Spike protein) บนผิวของไวรัส ที่เรียกว่า K417N ซึ่งพบในไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกา และแกมมา หรือสายพันธุ์บราซิล ทำให้ไวรัสเข้าจับกับเซลล์ปอดได้มากขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้น และหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกายได้มากขึ้น นอกจากนี้สายพันธุ์เดลตาพลัสอาจต้านทานการรักษาด้วยสารภูมิคุ้มกันโมโนโคลนอลแบบผสม (Monoclonal antibody cocktail therapy) ซึ่งวิธีรักษาดังกล่าวใช้ในการรักษาโรคโควิด 19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และอินเดีย โดยนำภูมิต้านทานแบบสังเคราะห์มากกว่า 1 ชนิดที่มีความจำเพาะ เข้าไปจับบนผิวของไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถจับกับเซลล์ปอดได้

กระทรวงสาธารณสุข ประเทศอินเดียได้ปรับระดับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เดลตาพลัส จากสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variant of interest) เป็นสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล (Variant of concern) แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดวิทยาบางส่วนเห็นว่าควรมีการศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์เดลต้าพลัสให้มากกว่านี้ก่อนทำการปรับระดับเนื่องจากเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีข้อมูลน้อยมาก และควรให้ความสนใจกับสายพันธุ์เดลต้าซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาด และสร้างความเสียหายให้กับระบบสาธารณสุขทั่วโลกตอนนี้มากกว่า

แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เดลตาพลัส แต่ก็ควรติดตาม และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกยังคงเรียกร้องให้ประชาชนทั่วโลกทั้งที่ไม่ได้รับวัคซีนและรับวัคซีนแล้ว ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และดูแลสุขอนามัยต่อไปจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลกจะดีขึ้นมากกว่านี้

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

แหล่งข้อมูล:
Delta plus India: Scientists say too early to tell risk of Covid-19 variant. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/news/world-asia-india-57564560 [5 กรกฎาคม 2564]
Concerns mount as Delta Plus variant of coronavirus crops up in four states in India. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.indiatoday.in/coronavirus-outbreak/story/concerns-mount-as-delta-plus-variant-cases-detected-in-four-states-in-india-1817952-2021-06-22 [5 กรกฎาคม 2564]
India Raises The Alarm On New "Delta Plus" Variant. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.iflscience.com/health-and-medicine/india-raises-the-alarm-on-new-delta-plus-variant/ [5 กรกฎาคม 2564]
Delta Variant Infected Dozens At A Party – Except The Six Vaccinated People. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.iflscience.com/health-and-medicine/delta-variant-infected-dozens-at-a-party-except-the-six-vaccinated-people/ [5 กรกฎาคม 2564]
expert comment on the ‘Delta plus’ variant (B.1.617.2 with the addition of K417N mutation). [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.sciencemediacentre.org/expert-comment-on-the-delta-plus-variant-b-1-617-2-with-the-addition-of-k417n-mutation/ [5 กรกฎาคม 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน