โดยปกติแล้วในโครโมโซมเพศของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายจะมีโอกาสเกิดโครโมโซมแบบ XY หรือ XX ครึ่งต่อครึ่งหรือร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดเพศของลูกที่กำเนิดออกมา ด้วยความเป็นไปได้เพียงร้อยละ 50 จึงถือเป็นเรื่องยากที่เราจะกำหนดเพศของลูกที่เกิดมาได้ เพราะถ้าเปรียบเหมือนการว่ายน้ำ โครโมโซมทั้งสองต่างเป็นนักว่ายน้ำที่ต้องการเข้าสู่เส้นชัย เพียงแต่ใครว่ายได้เร็วกว่าเท่านั้น และนั่น เราเองก็ไม่สามารถคาดเดาได้เพราะทั้งคู่ต่างมีคุณสมบัติและความสามารถแทบไม่ต่างกัน นอกจาก DNA ในตัวพวกมันที่แตกต่างกัน
ในปัจจุบัน จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยฮิโรชิม่า ได้ค้นพบวิธีการเลือกอสุจิที่มี โครโมโซม X หรือโครโมโซม Y ในหนูทดลองได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยในการกำหนดเพศของลูกได้
นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้อธิบายว่า ในอสุจิโครโมโซม X จะมียีนที่ทำงาน 500 ยีน แต่ในโครโมโซม Y ไม่มี 500 ยีน นี้ และใน 500 ยีนที่ทำงานในโครโมโซม X มีอยู่ 18 ยีน ที่สร้างโปรตีนยื่นออกมาบนผิวของเซลล์อสุจิ ถ้าเราใส่สารที่มีชื่อว่า resiquimod ลงไป สารตัวนี้จะไปจับกับโปรตีนดังกล่าวทำให้อสุจิที่มีโครโมโซม X นั้นว่ายน้ำช้าลง เมื่อแยกเอาอสุจิที่ว่ายน้ำเร็วไปปฏิสนธิ พบว่า 91% ของลูกหนูทดลองนั้นเป็นเพศชายทั้งหมด และ 81% เป็นเพศหญิงเมื่อใช้อสุจิที่ว่ายน้ำช้า ถึงแม้การวิจัยจะมีผลออกมาไม่ 100% แต่ความเป็นไปได้นั้นสูงกว่าตามธรรมชาติที่มีอัตราเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ได้มีการใช้วิธีนี้ในการคัดเลือกเพศของลูกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ และประสบผลสำเร็จด้วยดี เช่น วัว และหมู สำหรับการนำมาใช้กับมนุษย์ อาจจะต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลไกของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่าสัตว์อื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องทางจริยธรรม รวมถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในเรื่องประโยนช์และโทษที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวถ้าหากเรานำวิธีนี้มาใช้กับมนุษย์
ที่มาข้อมูล
https://www.sciencealert.com/scientists-have-developed-an-uncomfortably-easy-method-for-separating-mouse sperm?fbclid=IwAR0zi1rYikwmXpqngwDhvFdy93F1LIUolfk Z8ebN1kV5CEKE2nez9Au4AkI