วันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ BBC รายงานว่าการค้นพบโดยบังเอิญของ เฟเดริกา เบอร์ทอคคินี (Federica Bortocchini) เมื่อปี 2017 นำไปสู่โครงการวิจัยที่อาจเป็นอีกหนทางช่วยโลกจัดการกับขยะพลาสติกได้
เบอร์ทอคคินี เป็นนักชีววิทยาระดับโมเลกุล ที่เลี้ยงผึ้งเป็นงานอดิเรก และต้องคอยทำความสะอาดรังผึ้งที่ถูกหนอนผีเสื้อกินไขผึ้งมารบกวน เธอเก็บรวบรวมหนอนเหล่านี้ใส่ในถุงพลาสติก และสังเกตเห็นว่า ไม่นานนัก ถุงพลาสติกจะมีรูเล็ก ๆ หลายรู เมื่อสังเกตชัด ๆ จะเห็นว่าจุดที่ถุงพลาสติกสัมผัสกับปากของหนอน บริเวณนั้นมีการย่อยสลายเกิดขึ้นแทบจะในทันที จึงเกิดโครงการวิจัยเกี่ยวกับหนอนผีเสื้อไขผึ้งขึ้น
จากการศึกษา ทีมนักวิจัยพบว่า ในน้ำลายหนอนมีเอนไซม์ 2 ชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายพลาสติก และยังพบว่าหนอนชนิดนี้สามารถกินและย่อยพลาสติกราวกับเป็นอาหารของพวกมันได้อีกด้วย ซึ่งนักวิจัยถือว่านี่เป็นเรื่องน่าทึ่งที่พบการย่อยสลายพลาสติกแบบที่อาศัยการผสมผสานทั้งเอนไซม์และแบคทีเรียในตัวเอง ผลคือทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นเร็วมาก และนี่อาจเป็นกุญแจสำคัญช่วยให้กระบวนการย่อยสลายพลาสติกตามธรรมชาติด้วยแสงและความร้อนที่กินเวลายาวนานเป็นเดือนหรือปี ร่นมาเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เป็นได้ แต่นักวิจัยกล่าวว่า นี่ไม่ได้หมายถึงการสร้างกองทัพหนอนชนิดนี้ให้มากขึ้น เพื่อออกไปช่วยย่อยพลาสติก เพราะวิถีชีวิตของพวกมันคือการเข้าไปกินไขผึ้งในรังผึ้ง เมื่อผึ้งถูกรบกวนด้วยหนอนพวกนี้ก็จะทิ้งรังไป พวกเขาเห็นว่า ตัวจริงของการย่อยสลายคือ “เอนไซม์” โครงการนี้จึงมุ่งศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับเอนไซม์ของหนอนผีเสื้อกินไขผึ้ง เพื่อหวังขยายปริมาณ แล้วสร้างหนทางกำจัดพลาสติกต่อไปในอนาคต
แหล่งที่มาของข่าวและภาพ
https://www.youtube.com/watch?v=Z-HHbU0zoXk
https://www.bbc.com/thai/articles/cprg5xd57x8o
https://www.youtube.com/watch?v=Z-HHbU0zoXk
https://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=15&chap=2&page=t15-2-infodetail11.html
ผู้เรียบเรียง
วารี อัศวเกียรติรักษา
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ