เขม่าดำ...มลพิษต่อทารกในครรภ์

เขม่าดำ...มลพิษต่อทารกในครรภ์

29-04-2022
เขม่าดำ...มลพิษต่อทารกในครรภ์

จากการศึกษาของ เฮนเลอร์ โบพล์ (Hanelore Bove) และคณะ จากมหาวิทยาลัยฮาสเซลท์ (Hasselt University) พบว่า มีอนุภาคคาร์บอนสีดำหรือเขม่าดำในอวัยวะภายในและมดลูกของผู้หญิงชาวเบลเยียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พบว่ามีเขม่าดำในรกของเด็กทารกที่เกิดจากมารดาที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งมลพิษทางอากาศที่มีเขม่าดำปนเปื้อนอยู่

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ เอมี่ คอร์คเบรนเนอร์ (Amy Kalkbrenner) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัย
วิสคอนซิล-มิลวอคกี (University of Wisconsin-Milkwaukee) ยังสอดคล้องกับการศึกษาของ เฮนเลอร์ โบพล์ (Hanelore Bove) และคณะ ซึ่งพบว่า มารดาที่อาศัยอยู่ในแหล่งมลพิษทางอากาศที่มีความเข้มข้นสูงจะมีอัตราการคลอดก่อนกำหนดสูงและน้ำหนักตัวของทารกแรกคลอดต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจาก มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุภาคคาร์บอนสีดำหรือเขม่าดำได้ส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อกลไกป้องกันสิ่งแปลกปลอมของมารดา นอกจากนี้ เอมี่ คอร์คเบรนเนอร์ (Amy Kalkbrenner) ยังพบว่า มลพิษเขม่าดำนี้ยังสามารถเข้าถึงทารกที่กำลังเจริญเติบโตในครรภ์มารดาได้อีกด้วย

smut

สำหรับการตรวจวัดการปนเปื้อนของอนุภาคคาร์บอนสีดำหรือเขม่าดำที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในรกของทารกแรกคลอดของ เฮนเลอร์ โบพล์ (Hanelore Bove) และคณะ พวกเขาได้ใช้เทคนิคการปล่อยแสงเลเซอร์ไปยังเป้าหมายอย่างเป็นจังหวะ (Femtosecond pulsed laser illumination) เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของเขม่าดำในเนื้อเยื่อ โดยการปล่อยแสงเลเซอร์อย่างรวดเร็วยิ่งยวดด้วยความเร็วหนึ่งในสี่ส่วนล้านของวินาทีไปยังเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นให้อิเล็กตรอนภายในเนื้อเยื่อเปล่งแสงออกมา ซึ่งเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันจะเปล่งแสงที่มีสีแตกต่างกัน เช่น คอลลาเจนจะเปล่งแสงแดง เซลล์รกจะเปล่งแสงสีเขียว ส่วนอนุภาคคาร์บอนสีดำจะเปล่งแสงสีขาว ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ สปริง (Spring) นักฟิสิกส์ชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์นในบอสตัน (Northeastern University in Boston) กล่าวว่า “อนุภาคคาร์บอนสีดำจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากส่วนที่เหลือของเนื้อเยื่อ”


เฮนเลอร์ โบพล์ (Hanelore Bove) และคณะ ได้ทำการตรวจสอบปริมาณเขม่าดำในรกของทารกที่ได้จากมารดาที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเบลเยียม จำนวน 20 ตัวอย่าง โดยมี 10 ตัวอย่างของรกที่ได้จากมารดาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณเขม่าดำหรืออนุภาคคาร์บอนดำปนเปื้อนในอากาศในระดับความเข้มข้นสูงกว่ามาตรฐาน และอีก 10 ตัวอย่างของรกมาจากมารดาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของเขม่าดำหรืออนุภาคคาร์บอนในอากาศต่ำกว่าระดับมาตรฐาน จากการศึกษา พบว่า ปริมาณเขม่าดำที่พบในเนื้อเยื่อรกที่ได้จากมารดาที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศน้อยกว่าจะมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 9,500 อนุภาคต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ในขณะที่ ปริมาณเขม่าดำในเนื้อเยื่อรกที่ได้จากมารดาที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศสูงกว่าจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 20,900 อนุภาคต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร


นอกจากนี้ เอมี่ คอร์คเบรนเนอร์ (AmyKalkbrenner) กล่าวอย่างมั่นใจว่า “เมื่อทำการตรวจวัดมลพิษทางอากาศแล้วพบว่าบริเวณนั้นมีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศปนเปื้อนอยู่สูงมากจะสัมพันธ์กับปริมาณของอนุภาคคาร์บอนสีดำหรือเขม่าดำที่วัดได้จะมีปริมาณที่สูงเช่นเดียวกัน” และจากการศึกษานี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นได้ในการตรวจสอบการรับเอามลพิษเข้าสู่ร่างกายเราโดยการตรวจสอบเนื้อเยื่อหรือเลือด ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ปริมาณของมลพิษที่ร่างกายได้รับจะขึ้นอยู่กับการสัมผัสหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหมายถึงแหล่งที่อยู่อาศัยรวมถึงสถานที่ต่างๆ รวมถึงที่ทำงานของเรา

ที่มาข้อมูล 
ข่าววิทยาศาสตร์
Aimee Cunningham (2019). Air pollution can reach the placenta around a developing baby. ScienceNews [Online]. Available on https://www.sciencenews.org/article/air-pollution-can-reach-placenta-around-developing-baby. [Accessed 18 September 2019].

 

งานวิจัย
H. Bové et al. Ambient black carbon particles reach the fetal side of human placenta. Nature Communications. Published online September 17, 2019. doi: 10.1038/s41467-019-11654-3.
 

ผู้เรียบเรียง วิลาสินี ไตรยราช