วันผึ้งโลก คืออะไร
วันผึ้งโลก (World Bee Day) ถูกจัดขึ้นทั่วโลกในวันที่ 20 พฤษภาคมของทุกปี โดยแต่ละประเทศจะจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของผึ้งและการเลี้ยงผึ้ง มีการเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับบทบาทของผึ้งในฐานะผู้ผสมเกสรและวิธีที่พวกมันช่วยฟื้นฟูป่าไม้ และเนื่องจากประชากรผึ้งกำลังถูกคุกคาม การจัดกิจกรรมวันผึ้งโลกจึงเน้นถึงการปกป้องผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันในหลาย ๆ ประเทศได้ให้ความสำคัญและจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ โดยการมีส่วนร่วมทั้งรัฐบาล หน่วยงานราชการ ประชาชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก
การกำเนิดวันผึ้งโลก
เพื่อปกป้องผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่น ๆ ที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามทำให้จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สมาคมผู้เลี้ยงผึ้งแห่งประเทศสาธารณรัฐสโลวีเนียจึงได้เปิดตัวแคมเปญขึ้นในปี พ.ศ. 2557 โดยเรียกร้องให้วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นวันผึ้งโลก ความคิดริเริ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสาธารณรัฐสโลวีเนีย ในปี พ.ศ. 2558 ความคิดริเริ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรผู้เลี้ยงผึ้งนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Apimondia นอกจากนี้กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และอาหารของสโลวีเนียได้เดินทางไปทั่วโลกพร้อมกับจัดกิจกรรมที่เรียกว่า Bee World รวมถึงการจัดการประชุมกับผู้แทนของประเทศอื่น ๆ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการอย่างแข็งขัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินแห่งสหประชาชาติจึงมีมติประกาศให้วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นวันผึ้งโลกขึ้น (โดยยึดตรงกับวันเกิดของ Anton Janša ผู้ที่บุกเบิกวงการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่ (modern apiculture) ตั้งแต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18) มติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)
ผึ้ง ทูตของแมลงผสมเกสร
เป็นเวลาหลายศตวรรษที่ผึ้งซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ทำงานหนักที่สุดในโลก สร้างประโยชน์ให้แก่มนุษย์ พืช และสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากการนำพาละอองเรณูจากดอกไม้ดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง ผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่นๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เกิดการผลิตผลไม้ ถั่ว และเมล็ดพืชได้มากมายเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้เกิดความหลากหลายและคุณภาพของสายพันธุ์พืชที่ดีขึ้นอีกด้วย และที่สำคัญยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการต่อมนุษย์อย่างมากมายมหาศาล
มีการประเมินว่าผึ้งมีบทบาทสำคัญต่อการผลิตผลผลิตทางการเกษตรมากกว่า 87% ของผลผลิตทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 235-577 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี (มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น) นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้งอย่าง น้ำผึ้ง (honey) นมผึ้ง (royal jelly) ไขผึ้ง (beewax) พรอพอลิส (propolis) และ พิษผึ้ง (bee venom) ล้วนมีบทบาทสำคัญทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การบริโภค การประยุกต์ใช้ การศึกษาวิจัยยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์อีกด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยเน้นย้ำถึงความสำคัญของผึ้งที่มีต่อทั้งระบบนิเวศและมนุษยชาติได้อย่างชัดเจน
ผึ้ง (อันดับ Hymenoptera วงศ์ Apidae) ที่ถูกค้นพบและตั้งชื่อแล้วมีประมาณ 25,000 ถึง 30,000 ชนิด จัดเป็นแมลงผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพมาก ซึ่งนอกจากผึ้งแล้วยังมีแมลงอื่น ๆ ที่เป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญ ได้แก่ แมลงวัน ต่อ แตน ด้วง และผีเสื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อื่น ๆ ที่ช่วยผสมเกสรให้พืชอีกด้วย เช่น ค้างคาว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่บินไม่ได้ (เช่น ลิงหลายชนิด สัตว์ฟันแทะ และกระรอก) และนก (นกฮัมมิ่งเบิร์ด และนกแก้วบางชนิด) ความเข้าใจในปัจจุบันเกี่ยวกับกระบวนการผสมเกสรแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพืชและแมลงผสมเกสรจะมีความเฉพาะ แต่บริการการผสมเกสรที่ดีจะรับประกันได้ดีที่สุดจากจำนวนและความหลากหลายของแมลงผสมเกสร
ทำไมเราต้องการนักผสมเกสร
ผักและผลไม้ที่เรารับประทานต้องอาศัยผึ้งและแมลงผสมเกสรโดยตรงทั้งนั้น แมลงผสมเกสรทำให้พืชป่ารวมทั้งพืชที่เป็นอาหารหลายชนิดสามารถแพร่พันธุ์ได้ (โดย 90% ของพืชดอกป่า และ 75% ของพืชอาหาร ขึ้นอยู่กับการมีอยู่ของแมลงเหล่านี้ในการช่วยผสมเกสร) โลกที่ปราศจากแมลงผสมเกสรจะเท่ากับโลกที่ปราศจากความหลากหลายทางอาหาร นอกจากนี้ผึ้งและแมลงผสมเกสรสามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้เมื่อความสมบูรณ์ของป่าเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อประชากรของผึ้งและแมลงผสมเกสร ดังนั้นพวกมันจึงทำหน้าที่เป็นยามสำหรับแจ้งเตือนเมื่อเกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยส่งสัญญาณถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศให้มนุษย์อย่างเรารู้ตัวและสามารถเตรียมการป้องกันได้
แมลงผสมเกสรไม่เพียงแต่ช่วยให้ผลไม้ ถั่ว และเมล็ดพืชมีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีความหลากหลายและคุณภาพด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสารอาหารของมนุษย์ นอกเหนือจากอาหารแล้ว แมลงผสมเกสรยังมีส่วนช่วยโดยตรงต่อการผลิตยา เชื้อเพลิงชีวภาพ เส้นใย เช่น ฝ้ายและลินิน และวัสดุก่อสร้าง
พืชที่เป็นไม้ดอกส่วนใหญ่จะผลิตเมล็ดก็ต่อเมื่อแมลงผสมเกสรย้ายละอองเรณูจากอับเรณูไปยังดอกไม้ หากไม่มีบริการนี้ ชนิดและกระบวนการต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันซึ่งทำงานภายในระบบนิเวศจะล่มสลาย ดังนั้นการผสมเกสรจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญทั้งในระบบนิเวศตามธรรมชาติ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตอาหารและการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงระบบนิเวศในป่าเข้ากับระบบการผลิตทางการเกษตรได้โดยตรง
หากไม่มีแมลงผสมเกสร ไม่มี SDGs!
ความหลากหลายของแมลงผสมเกสรมีผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของพืช ในความเป็นจริงแล้วผึ้งและแมลงผสมเกสรช่วยปรับปรุงการผลิตอาหารของเกษตรกรจำนวนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งช่วยรับประกันความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก ผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่นๆ จึงเป็นพื้นฐานสำหรับสุขภาพของระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหาร ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและรับประกันการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับมนุษย์และสัตว์
ในทางกลับกัน การลดลงของสายพันธุ์ผึ้งและแมลงผสมเกสรเหล่านี้กลับสร้างผลกระทบอย่างมากมายต่อระบบนิเวศและต่อคุณภาพและปริมาณของพืชอาหาร ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงจากความไม่สมดุลของอาหารและทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง ตลอดจนความยากจนของประชากร สุขภาพและแม้กระทั่งชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคนจะได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หลายเป้าหมาย เช่น เป้าหมายเพื่อยุติความอดอยากของโลก และเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก จะไม่สามารถบรรลุผลได้อีกต่อไป
ภัยคุกคามกับอนาคตของผึ้งและแมลงผสมเกสร
อย่างไรก็ตาม ประชากรผึ้งและแมลงผสมเกสรในปัจจุบันกำลังเผชิญภัยคุกคามหลายด้านทั้งจากการใช้ยาฆ่าแมลงในภาคเกษตรกรรม ภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ และการลดลงของพันธุ์พืช เป็นต้น การผลิตพืชเชิงเดี่ยวอย่างเข้มข้นและการใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่เหมาะสมก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อผึ้งและแมลงผสมเกสร ทำให้ลดการเข้าถึงอาหารและแหล่งทำรังของผึ้ง การสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของแมลงเหล่านี้อ่อนแอลงอย่างมาก นอกจากนี้การล่าน้ำผึ้งจากฝูงผึ้งป่ายังคงเป็นสิ่งสำคัญของการดำรงชีวิตของประชากรที่พึ่งพาป่าในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่สร้างผลกระทบต่อการลดลงของประชากรผึ้งป่าเป็นอย่างมาก
มนุษย์กำลังจะเป็นผู้ทำให้ผึ้งสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” สถานการณ์ของผึ้งและแมลงผสมเกสรในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะจากมนุษย์ การตระหนักถึงความสำคัญของผึ้งและแมลงผสมเกสร และผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อไม่มีแมลงเหล่านี้ ทุกคนต้องผนึกกำลังกันทั้งโลกร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่จำเป็น ก่อนที่ผึ้งและแมลงผสมเกสรจะสูญพันธุ์ไปจากโลกจริง ๆ จากนี้ไป“อนาคตของผึ้งและแมลงผสมเกสรอยู่ในมือพวกเราทุกคน”
แหล่งอ้างอิง
สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ, สุรีรัตน์ เดี่ยววาณิชย์. 2555. ชีววิทยาของผึ้ง พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
http://cubeelab.online/fact.php. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566
https://nationaltoday.com/world-bee-day/. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566
https://www.fao.org/world-bee-day/en/. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566
https://www.un.org/en/observances/bee-day/background. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566
เรื่อง/ภาพ ทัศนัย จีนทอง
สำนักวิชาการพิพิธภํณฑ์ธรรมชาติวิทยา