ชีทแกรส

ชีทแกรส

30-04-2022
ชีทแกรส

หญ้าชีทแกรสที่กำลังรุกรานทุ่งต้นเซจบรัชซึ่งเป็นหนึ่งในพืชประจำถิ่นในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

ที่มาของภาพ https://www.sciencenews.org/article/invasive-grasses-spread-wildfire-plants

ชนิดพันธุ์หญ้าต่างถิ่นรุกราน : ภัยร้ายต่อพืชพรรณท้องถิ่นในอเมริกา

พันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive species) หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแล้วสามารถตั้งถิ่นฐานและแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ เป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบทั้งการสูญเสียของชนิดพันธุ์พื้นเมือง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบนิเวศ และแม้กระทั่งภัยธรรมชาติ

หญ้าชีทแกรส มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bromus tectorum เป็นหญ้าต่างถิ่นที่สร้างปัญหาอย่างมากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา โดยที่มาของชื่อชีทแกรสมาจาก Cheater หรือคนหน้าไหว้หลังหลอก เนื่องจากหญ้าชนิดนี้แห้งเร็วกว่า ไม่เหมาะใช้เป็นอาหารปศุสัตว์อย่างหญ้าชนิดอื่น ปัจจุบันหญ้าชีทแกรสและหญ้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดอื่นมีพื้นที่รวมกันถึง 1 ใน 5 ของเกรตเบซิน (Great Basin) ครอบคลุมพื้นที่โอเรกอน เนวาดา ไอดาโฮ ยูทาห์ และแคลิฟอร์เนีย จากข้อมูลล่าสุดในปี 2020 หญ้าต่างถิ่นรุกรานเหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่ภายในเกรตเบซินมากกว่า 77000 ตารางกิโลเมตรรวมทั้งพื้นที่ราบสูงซึ่งเป็นสภาวะไม่ปกติที่อาจเป็นผลมาจากปรากฏการณ์สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน (Climate change) ตามที่เผยแพร่ในวารสาร Diversity and Distributions เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

หญ้าต่างถิ่นรุกรานพวกนี้เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศในทวีปอเมริกาเหนือมาก อย่างเช่นที่เกิดในทุ่งต้นเซจบรัช (Sagebrush shrubs) ทุ่งดอกไม้ป่าและทุ่งหญ้าบุนช์แกรส (Bunchgrasses) ซึ่งเป็นที่อยู่ตามธรรมชาติอาศัยของกวางพรองฮอน (Pronghorn) และกวางมูล (Mule deer)

และที่ร้ายไปกว่านั้น จากการที่หญ้าต่างถิ่นรุกรานเหล่านี้ยังติดไฟง่ายและมีความเกี่ยวข้องกับไฟป่าที่เกิดถี่ขึ้น กินพื้นที่มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ราบในไอดาโฮซึ่งถูกปกคลุมด้วยหญ้าชีทแกรสมีความถี่มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ 60-110 ปีที่ผ่านมา โดยระหว่างปี 2000-2009 ไฟป่าครั้งใหญ่ 39 ครั้งจาก 50 ครั้งในเกรตเบซินมีความสัมพันธ์กับพื้นที่หญ้าชีทแกรส

นอกจากนี้หญ้าชีทแกรสยังมีความสามารถในการกลับมาตั้งถิ่นฐานหลังจากเกิดไฟป่ามากกว่าพืชประจำถิ่นทั่วไป เป็นวงจรซ้ำๆของปัญหาไฟป่า กล่าวคือ หญ้าชีทแกรสทำให้เกิดไฟป่าถี่ขึ้นและไฟป่าเพิ่มโอกาสการเติบโตของหญ้าชีทแกรส วงจรนี้สร้างปัญหาที่ยากจะรับมือให้กับผู้ดูแลพื้นที่ซึ่งต้องพยายามทั้งป้องกันการแพร่กระจายของหญ้าชีทแกรสที่ทำให้เกิดไฟป่า และยังต้องอนุรักษ์พืชท้องถิ่นอย่างทุ่งเซจบรัชไม่ให้ถูกแทนที่ด้วยหญ้ารุกรานต่างถิ่นหลังเกิดไฟป่า

โจเซฟ สมิธ นักวิชาการระบบนิเวศทุ่งหญ้าจากมหาวิทยาลัยมอนทาน่าแห่งมิซซูอูล่ากล่าวว่า การวางกลยุทธเชิงภูมิศาสตร์เพื่อปกป้องพื้นที่ที่เป็นที่อยู่ของพืชท้องถิ่นมีความจำเป็นมากกว่าการวิ่งไล่ตามแก้ไขปัญหาอย่างไม่รู้จบ ดังนั้นสมิธและคณะวิจัยจึงศึกษาถึงพื้นที่ภายในเกรตเบซินที่ถูกเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าต่างถิ่นรุกรานในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาโดยใช้ RAP (Rangeland Analysis Platform) ซึ่งเป็นเครื่องวัดระยะไกล (Remote sensing) ออกแบบโดย Google Earth Engine ที่สามารถประเมินชนิดและร้อยละพื้นที่ในระดับ baseball diamond–sized อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งใช้ความต่างของสีน้ำตาลในพวกพืชอายุสั้นและสีเขียวของพืชอายุยืนคือไม่สามารถแยกพืชเฉพาะถิ่นและพืชต่างถิ่นได้ ดังนั้นจึงต้องใช้การสำรวจภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมโดย Bureau of Land Management’s assessment, inventory and monitoring strategy

จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ของหญ้าต่างถิ่นรุกรานเพิ่มมากขึ้นถึง 8 เท่า ตั้งแต่ปี 1990 หรือคิดเป็น 2300 กิโลเมตรต่อปีซึ่งมากกว่าอัตราที่ป่าอะเมซอนถูกทำลายในแต่ละปี และนอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่ของหญ้าต่างถิ่นรุกรานมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วหญ้าจะเติบโตได้ไม่ดีในพื้นที่อากาศเย็นอย่างพืชอายุยืน แต่จากสภาวะภูมิอากาศแปรปรวนที่ส่งผลให้ฤดูหนาวสั้นลงและฤดูร้อนยาวนานขึ้นทำให้พืชอายุสั้นอย่างหญ้าซึ่งมีวงจรชีวิตที่เหมาะกับอากาศร้อนมากกว่าพืชอายุยืนในพื้นที่ดังกล่าวเติบโตได้ดีและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยยังไม่ละความพยายามที่จะปรับปรุงเครื่องวัดระยะไกลเพื่อเป็นเครื่องมือลดการแพร่กระจายของหญ้าต่างถิ่นรุกรานและหาความเกี่ยวข้องกับการเกิดไฟป่า เช่น การติดตามการเกิดพื้นที่หญ้าต่างถิ่นรุกรานในช่วงฤดูใบไม้ผลิและพยากรณ์ถึงไฟป่าในช่วงฤดูร้อน

“ถ้าไม่รู้ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นที่ไหน ก็จะไม่สามารถจัดการปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ การระบุพื้นที่หญ้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่แม่นยำจะช่วยให้ผู้คนสามารถป้องกันไฟป่าด้วยการกำจัดหญ้าที่เป็นเชื้อไฟอย่างดีได้โดยใช้ยาฆ่าหญ้า” เบธานี่ แบรดลี่ย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมซซาชูเซ็ต กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)

https://www.sciencenews.org/article/invasive-grasses-spread-wildfire-plants

http://chm.dnp.go.th/wp-content/uploads/bookdownload/หนังสือพืชต่างถิ่นรุกรานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

 

คำค้น (Tags) หญ้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน Cheatgrass สหรัฐอเมริกา ไฟป่า เครื่องวัดระยะไกล