นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสุขภาพเมนซีส์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ (Menzies Health Institute Queensland : MHIQ) มหาวิทยาลัยกริฟฟิธ (Griffith University) ประเทศออสเตรเลีย และสถาบันวิจัยซิตีออฟโฮป (City of Hope) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสตัวใหม่ที่สามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในปอดได้ถึง 99.9% การพัฒนายาต้านไวรัสตัวนี้นับเป็นความหวังใหม่ของมนุษยชาติในการรักษาและต่อต้านการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
โดยปกติแล้วยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ เช่น ทามิฟลู (Tamiflu) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) และเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) จะช่วยลดอาการและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ยาตัวใหม่นี้จะตรงเข้าค้นหาและทำลายสารพันธุกรรมของไวรัสโดยตรง ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
ยาต้านไวรัสตัวใหม่นี้ใช้เทคโนโลยียับยั้งการแสดงออกของยีนในระดับอาร์เอ็นเอ (gene-silencing RNA technology) ที่เรียกว่า siRNA (small-interfering RNA) เพื่อโจมตีจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมของไวรัสโดยตรง ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และยังใช้อนุภาคนาโนไขมันที่ออกแบบโดยมหาวิทยาลัยกริฟฟิธและสถาบันวิจัยซิตีออฟโฮป ส่ง siRNA เข้าไปยังปอดซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อโดยตรง
ไนเจล แม็คมิลลัน (Nigel McMillan) ผู้ร่วมวิจัย เผยว่า “ยาที่ใช้เทคโนโลยี siRNA สามารถลดปริมาณไวรัสได้ถึง 99.9% และอนุภาคนาโนนี้ยังสามารถแพร่กระจายในเซลล์ปอดเป็นวงกว้างและอนุภาคนี้จะช่วยหยุดยั้งยีนของไวรัสได้”
จากผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Therapy ระบุว่า เมื่อทดสอบในหนูทดลองที่ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 พบว่าทำให้หนูมีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนูที่รอดชีวิตจะตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในปอดเลย
เควิน มอร์ริส (Kevin Morris) ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า “ยานี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับไวรัสในตระกูลเบตาโคโรนาไวรัส (Betacoronavirus) เช่น ไวรัส SARS-CoV-1 ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส และ ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 รวมถึงสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจอุบัติขึ้นในอนาคต เนื่องจากยาดังกล่าวมีเป้าหมายแบบจำเพาะเจาะจงเฉพาะต่อจีโนมของไวรัสโคโรนา”
ยิ่งไปกว่านั้น ไนเจล แม็คมิลลัน ยังระบุว่า อนุภาคนาโนนี้ยังมีความเสถียร สามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ได้นานถึง 12 เดือน และที่อุณหภูมิห้องได้ราว 1 เดือน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงสามารถพัฒนาเป็นยารักษาผู้ติดเชื้อไวรัสได้
ผลจากการศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า อนุภาคนาโนของ siRNA สามารถพัฒนาเป็นยาเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 และการติดเชื้อไวรัสโคโรนาอื่น ๆ ได้ในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการทำลายจีโนมของไวรัสโดยตรง
เรียบเรียงโดย : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.
ที่มาข้อมูล :
New antiviral with 99.9% efficacy against Covid-19 developed. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.indiatvnews.com/health/new-antiviral-with-99-9-efficacy-against-covid-19-developed-705623 [20 พฤษภาคม 2564]
Researchers develop direct-acting antiviral therapy to treat COVID-19. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://news.griffith.edu.au/2021/05/17/researchers-develop-direct-acting-antiviral-to-treat-covid-19/ [20 พฤษภาคม 2564]