องค์การอนามัยโลกเตือนทั่วโลกเฝ้าระวังไวรัสนิปาห์

องค์การอนามัยโลกเตือนทั่วโลกเฝ้าระวังไวรัสนิปาห์

29-04-2022
องค์การอนามัยโลกเตือนทั่วโลกเฝ้าระวังไวรัสนิปาห์

https://www.forbes.com/sites/brucelee/2021/09/07/nipah-virus-kills-12-year-old-boy-in-india-raising-outbreak-concerns/?sh=4215a3a7d08c

เดือนกันยายน พ.ศ. 2564 สำนักข่าวต่างประเทศ นำเสนอข่าวพบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ ในรัฐเกรละ (Kerala) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย หลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนาน 1 สัปดาห์ เนื่องจากมีไข้สูง

โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับโรคโควิด 19 (COVID-19) อีโบลา (Ebola) ซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS-CoV) เชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah Virus) อยู่ในสกุล Henipavirus มีระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 4-14 วัน และอาจใช้เวลาฟักตัวนานถึง 45 วัน โดยในช่วงแรกผู้ติดเชื้อมักมีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ และอาเจียน หลังจากนั้นภายใน 1-2 วัน จะเริ่มพบความผิดปกติที่สมองซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท

โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ที่ประเทศมาเลเซีย และเคยระบาดครั้งใหญ่ในประเทศอินเดียและบังกลาเทศมาแล้ว โดยมีค้างคาวผลไม้ขนาดใหญ่ ในสกุล Pteropus ที่มีเชื้อไวรัสเป็นพาหะนำโรคไปสู่มนุษย์ และสามารถติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์จากการใกล้ชิดกัน รวมถึงการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้ออีกด้วย

การวินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากในระยะแรกผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการจำเพาะของโรค จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีด้านชีวโมเลกุลโดยการนำปัสสาวะ น้ำมูก น้ำลาย เลือด และน้ำในไขสันหลัง มาตรวจหาเชื้อด้วยเทคนิค RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) เช่นเดียวกับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งต้องใช้เวลา และต้องทำโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ

โรคไข้สมองอักเสบนิปาห์มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 40-75% และปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง หากพบว่าติดเชื้อ แพทย์จะทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น อีกทั้งโรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำให้องค์การอนามัยโลกเตือนให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย เช่น บังคลาเทศ ไทย มาเลเซีย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของค้างคาวผลไม้ ให้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการระบาดที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไปมากกว่านี้

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ที่มาข้อมูล:
Authorities race to contain deadly Nipah virus outbreak in India. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.cbsnews.com/news/nipah-virus-outbreak-india-kerala/ [20 กันยายน 2564]
Nipah Virus Kills 12-Year-Old Boy In India, Raising Outbreak Concerns. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.forbes.com/sites/brucelee/2021/09/07/nipah-virus-kills-12-year-old-boy-in-india-raising-outbreak-concerns/?sh=4215a3a7d08c [20 กันยายน 2564]
Why The World Should Be More Than A Bit Worried About India's Nipah Virus Outbreak. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา:https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/09/12/1035571714/why-the-world-should-be-more-than-a-bit-worried-about-indias-nipah-virus-outbrea [20 กันยายน 2564]
Nipah virus. [ออนไลน์]. 2018, แหล่งที่มา: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/nipah-virus [20 กันยายน 2564]
Nipah virus (NiV). [ออนไลน์]. 2018, แหล่งที่มา: https://www.cdc.gov/vhf/nipah/index.html
[20 กันยายน 2564]