การใช้ชีวิตที่ลำบากและการถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก ส่งผลให้การพัฒนาสมองของเด็กลดลง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาจะมีขนาดสมองเล็กกว่าคนทั่วไป
นักวิจัยจาก คิงส์คอลเลจ ลอนดอน ได้ศึกษาและติดตามเด็กที่เคยอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กในสถานกักกันที่ประเทศโรมาเนีย โดยศึกษาขนาดสมองของพวกเขาเปรียบเทียบกับเด็กที่ได้รับการอุปถัมภ์คนอื่นๆ พบว่า พวกเขามีขนาดสมองเล็กกว่าถึงร้อยละ 8.6 ซึ่งเป็นหลักฐานแรกที่น่าสนใจที่สุดซึ่งบ่งชี้ว่า
“การถูกทอดทิ้งและถูกลิดรอนสิทธิ์ในวัยเยาว์ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง”
ศาสตราจารย์ เอ็ดมอนด์ โซนูกา-บาร์ค ผู้นำคณะนักวิจัยที่ศึกษาและติดตามเด็กๆ เหล่านี้ ได้เล่าว่า “ก่อนที่จะมีการปฏิวัติและล่มสลายของระบอบ
เผด็จการคอมมิวนิสต์ของโรมาเนียในปี ค.ศ. 1989 สภาพเด็กๆ ในสถานกักกันของโรมาเนียที่ปรากฏบนโทรทัศน์แทบทุกช่อง เต็มไปด้วยเด็กๆ ที่อยู่อย่างทุกข์ทรมาน
บางคนถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียง ถูกทำร้ายร่างกาย ไม่มีของเล่น มีสภาพผอมแห้งและสกปรกมอมแมม มันเป็นภาพที่สะเทือนใจอย่างมาก” เขาและคณะจึงได้ทำการศึกษาและติดตามเด็กๆ ที่ได้รับการอุปการะจากครอบครัวชาวอังกฤษ และเคยใช้ชีวิตอยู่ที่สถานกักกันแห่งนี้เป็นเวลาตั้งแต่สองสัปดาห์ไปจนถึงสี่ปี ซึ่งการสำรวจและศึกษาเด็กๆ เหล่านี้ พบว่าพวกเขายังคงเผชิญกับปัญหาการจดจำภาพแห่งความเจ็บปวดในวัยเยาว์ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดภาวะออทิสติก สมาธิสั้น รวมถึงหวาดกลัวสังคมและคนแปลกหน้า
โดย ดร.เอ็ดมอนด์ได้ทำการสแกนสมองบุตรบุญธรรมชาวโรมาเนียเหล่านี้จำนวน 67 คน เปรียบเทียบกับบุตรบุญธรรมที่ไม่เคยถูกกีดกันในวัยเด็กจำนวน 21 คน
จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า นอกจากขนาดสมองที่เล็กลงแล้ว ระยะเวลาที่เด็กๆ ใช้ชีวิตในสถานกักกันนั้น ยิ่งนานเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลให้สมองมีขนาดลดลง
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ มิทัล เม็ชตา หนึ่งในนักวิจัยคณะนี้ ได้กล่าวว่า “เราพบความแตกต่างของการเจริญเติบโตของสมองของทั้งสองกลุ่ม ทั้งเด็กๆ โรมาเนียที่เคยอยู่ในสถานกักกัน และเด็กๆ ที่ไม่เคยอยู่ที่นั่น พบว่าการพัฒนาขนาดของสมองมีความเชื่อมโยงกับการจัดการระบบของสมอง แรงกระตุ้น การนำข้อมูลมาใช้ รวมถึงความทรงจำในวัยเยาว์”
จากผลวิจัยอาจชี้ให้เห็นว่าเด็กที่เคยถูกทารุณกรรมและถูกทอดทิ้งในวัยเด็กจะมีIQ ต่ำและสมาธิสั้น แต่การศึกษานี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าปัจจัยในวัยเยาว์ส่งผลต่อการพัฒนาสมองอย่างไรแต่อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ได้ชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงดูในช่วงเริ่มต้นของชีวิตมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองของมนุษย์ ถึงแม้ว่าเด็กๆ โรมาเนียเหล่านี้จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีในภายหลังด้วยครอบครัวอุปถัมน์ที่แสนอบอุ่นก็ไม่สามารถเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของชีวิตของพวกเขาได้
นำเสนอโดย ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
นางสาววิลาสินี ไตรยราช
ที่มา
Gallagher, J. (2020). Brain 'shrinks' if children neglected. Health and science correspondent: BBC News Online.
จาก https://www.bbc.com/news/health-51010388 (7 มกราคม 2563)