12 กรกฎาคม 2564 ณ นครเจนีวา องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาแถลงว่าหลายประเทศ ยังไม่ควรจัดสรรวัคซีนกระตุ้น (Booster shot) ให้กับประเทศที่ขาดแคลนและยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 คือสิ่งจำเป็นในเวลานี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การฉีดวัคซีนผสมสูตรอาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้รับวัคซีนได้
เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักเกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย รวมถึงมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ โดยปัจจุบันมีการพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาแล้วในพื้นที่กว่า 104 ประเทศทั่วโลก
เกเบรเยซุสเพิ่มเติมว่า บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และ โมเดอร์นา (Moderna) ผู้ผลิตวัคซีนโควิด 19 ที่กำลังพิจารณาการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับประเทศทั้งหลายที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรในอัตราที่สูงแล้ว ว่า ควรจะจัดสรรวัคซีนทั้งหลายเหล่านั้นให้กับโครงการโคแวกซ์ (COVAX) เพื่อจัดส่งวัคซีนดังกล่าวให้กับประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือประเทศที่ยากจนก่อน
โสมญา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้เตือนนานาประเทศทั่วโลกว่า ไม่ควรฉีดวัคซีนโควิดที่ผสมสูตรให้กับประชาชน เนื่องจากจะเป็นการก่อให้เกิดเทรนด์อันตราย (Dangerous trend) เพราะยังไม่มีข้อมูลรองรับเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพในการดำเนินการดังกล่าว อีกทั้งการให้ประชาชนมีโอกาสที่จะเลือกได้ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้เมื่อใดและจะใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด จะกลายเป็นความเสี่ยงทำให้สถานการณ์ในบางประเทศกลายเป็นความวุ่นวายมากขึ้นได้
หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ WHO ย้ำว่าสิ่งสำคัญในเวลานี้คือต้องให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะจากรายงานอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากทั่วโลก รวมถึงสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้การระบาดรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาได้จริง แต่วัคซีนก็ป้องกันร่างกายของคนที่ฉีดไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง โดยส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีอาการใดๆ เลย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
เรียบเรียงโดย : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.
ที่มาข้อมูล :
WHO warns individuals against mixing and matching COVID vaccines. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/who-warns-against-mixing-matching-covid-vaccines-2021-07-12/ [14 กรกฎาคม 2564]
WHO warns against mixing and matching COVID-19 vaccines. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.channelnewsasia.com/news/world/who-warns-against-mixing-and-matching-covid-19-vaccines-15207452 [14 กรกฎาคม 2564]
Most fully vaccinated people who get Covid delta infections are asymptomatic, WHO says. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.cnbc.com/2021/07/12/most-fully-vaccinated-people-who-get-covid-delta-infections-are-asymptomatic-who-says-.html [14 กรกฎาคม 2564]
WHO says countries should not order COVID-19 boosters while others still need vaccines. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/who-says-countries-should-not-order-covid-19-boosters-while-others-still-need-2021-07-12/ [14 กรกฎาคม 2564]