มหาวิทยาลัยเซาแฮมป์ตัน ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หวังหาเนื้อคู่ให้ต้นไม้ต้นสุดท้ายของเผ่าพันธุ์
ดร.ลอร่า เซนติ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาแฮมป์ตัน ร่วมกับ ดร.ฮอวาร์ด โบแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ ดร.เดบบี้ เจวิทท์ นักอนุรักษ์และนักบินโดรนในแอฟริกาใต้ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการค้นหาคู่ให้ Encephalartos woodii ต้นไม้ที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก โดยใช้การบินโดรนถ่ายภาพด้วยกล้องที่สามารถรับแสงได้มากกว่าที่ตามนุษย์มองเห็น เป็นจำนวนกว่าหลายหมื่นภาพ พร้อมทั้งฝึกสอนให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถตรวจหาต้นไม้ที่เป็นเป้าหมายได้จากภาพถ่ายเหล่านี้
ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน โครงการฯ นี้เก็บข้อมูลภาพถ่ายได้เพียงร้อยละ 2 ของพื้นที่ป่า และยังไม่สามารถหาคู่ให้ E. woodii ได้ แต่ด้วยขนาดที่กว้างใหญ่กว่า 10,000 เอเคอร์ของป่าแห่งนี้ นักวิจัยยังคงหวังว่าอาจจะมีโอกาสพบต้นเพศเมียที่เป็นเนื้อคู่กันก็เป็นได้
E. woodii เป็นต้นไม้ในวงศ์ปรง ซึ่งเป็นต้นไม้โบราณอยู่บนโลกนี้มาตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ ลักษณะโดดเด่นของพืชในวงศ์ปรงก็คือมีการแยกเพศเป็นต้นเพศผู้และเพศเมีย โดยในปี ค.ศ.1895 ได้มีการค้นพบต้น E. woodii เพศผู้ ในป่าอึนโกยา ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นต้นสุดท้ายของเผ่าพันธุ์ ยังถือว่าเป็นโชคดีที่ต้นไม้ในวงศ์ปรงสามารถขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อได้พวกมันจึงได้ถูกแยกหน่อและนำไปดูแลรักษาไว้ตามสวนพฤกษศาสตร์หลายแห่งทั่วโลกเพื่อเป็นการรับประกันไม่ให้มันสูญพันธุ์ไปตามธรรมชาติ แต่ทุกต้นที่ถูกแยกออกมานั้นมีลักษณะเหมือนต้นแบบของพวกมัน กล่าวคือพวกมันเป็นเพศผู้ทั้งหมดทุกต้น และเป็นที่น่าเสียดายว่าตั้งแต่ปีค.ศ.1895 เป็นต้นมายังไม่เคยมีใครเคยพบต้น E. woodii เพศเมียเลยสักครั้ง
แหล่งที่มาของข่าว
https://www.southampton.ac.uk/news/2024/05/the-high-tech-hunt-for-a-lonely-plants-partner.page
ผู้เรียบเรียง
เฮียฮก ศุภพิพัฒน โยธี
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์
ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาตร์แห่งชาติ
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ