องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อใหม่สำหรับเรียกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์

องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อใหม่สำหรับเรียกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์

29-04-2022
องค์การอนามัยโลกกำหนดชื่อใหม่สำหรับเรียกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์

https://www.rappler.com/newsbreak/iq/things-to-know-new-covid-19-variant

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 (COVID-19) มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ทำให้คุณสมบัติบางประการของไวรัสต่างไปจากเดิม หรือเรียกว่าการกลายพันธุ์ (Mutation) ทำให้ปัจจุบันมีไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขโลก

เพื่อลดความสับสน และง่ายต่อการจดจำของประชาชนทั่วไป องค์การอนามัยโลก (World Health World Health Organization หรือ WHO) ได้กำหนดชื่อของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์ โดยใช้ชื่อที่มาจากตัวอักษรภาษากรีก ดังนี้

1. สายพันธุ์ B.1.1.7 หรือสายพันธุ์อังกฤษ ให้ชื่อว่า อัลฟา (Alpha)
2. สายพันธุ์ B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกา ให้ชื่อว่า เบตา (Beta)
3. สายพันธุ์ P.1 หรือสายพันธุ์บราซิล ให้ชื่อว่า แกมมา (Gamma)
4. สายพันธุ์ B.1.167.2 หรือสายพันธุ์อินเดีย ให้ชื่อว่า เดลตา (Delta)

โดยทั้ง 4 สายพันธุ์ดังกล่าว เป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์ที่ทางองค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากส่งผลกระทบรุนแรงบางประการ เช่น การกลายพันธุ์ที่ทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ติดต่อในมนุษย์สู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น หรือทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันโรคของวัคซีนลดต่ำลง ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกยังได้กำหนดชื่อเรียกให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่ควรให้ความสนใจ และระมัดระวังเป็นพิเศษอีก 6 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/

ที่ผ่านมามีการเรียกชื่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กลายพันธุ์ ตามสถานที่แรกที่มีการตรวจพบ เช่น สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์อังกฤษ เป็นต้น ทำให้ประเทศที่มีชื่อปรากฎถูกมองว่าเป็นต้นตอของการระบาดเชื้อกลายพันธุ์นั้น ๆ จึงได้มีการกำหนดการเรียกชื่อแบบใหม่เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจผิดดังกล่าว อีกทั้งง่ายต่อการรับรู้ข่าวสาร และทำความเข้าใจสำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้การเรียกชื่อแบบเดิมซึ่งใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ และตัวเลข ที่เรียกว่า Pango lineage ยังคงมีการนำมาใช้สำหรับอ้างอิงในงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไปเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารในกลุ่มผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

แหล่งข้อมูล:
Tracking SARS-CoV-2 variants. [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา: https://www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/ [8 มิถุนายน 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน