มดบากนพรัตน์ (Lepisiota thepthepae Jarernkong et Jaitrong, 2022) เป็นมดชนิดใหม่ของโลกที่ถูกค้นพบและรายงานอย่างเป็นทางการเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมานี้ ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.นพรัตน์ เทพเทพา ผู้อำนวยการสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ผู้สนับสนุนการศึกษาอนุกรมวิธานและความหลากหลายทางชีวภาพแก่นักวิจัยของ อพวช. มาอย่างต่อเนื่อง มดชนิดนี้แตกต่างจากชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันตรงที่ ส่วนบนของหัวมีผิวขรุขระในขณะที่ด้านล่างของหัวเรียบเป็นเงามัน ผิวของอกขรุขระ ท้องมีผิวเรียบ หัวและอกสีน้ำตาลแดง ท้องสีดำ มีขนปกคลุมตัวหนาแน่น มดบากนพรัตน์พบได้ในทุ่งหญ้าธรรมชาติในจังหวัดศรีสะเกษและเชียงใหม่ สร้างรังอยู่ในดิน
ในผลงานวิจัยเดียวกันนี้นักวิจัยของ อพวช. ยังได้ค้นพบมดชนิดใหม่อีก 2 ชนิด ได้แก่ มดบากท้องดำ (Lepisiota bicolor Jarernkong et Jaitrong, 2023) และมดบากสยาม (Lepisiota siamensis Jarernkong et Jaitrong, 2023) มดชนิดใหม่ทั้งสามชนิดนี้สร้างรังในดินบริเวณที่โล่งเหมือนกับชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกันที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้ นักวิจัยกำลังหาคำตอบว่าทำไมมดสกุลนี้ถึงพบเฉพาะบริเวณพื้นที่โล่ง โดยไม่พบในป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์
การค้นพบมดชนิดใหม่นี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน (มก) และได้ตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ Far Eastern Entomologist ฉบับที่ 468 หน้าที่ 1–15 เดือนมกราคม 2566 โดย คุณกชพร เจริญคง นักศึกษาปริญญาโท (มก) ผศ.ดร.มณฑาทิพย์ คงมี (มก) รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว (มก) และดร.วียะวัฒน์ ใจตรง (อพวช.)