ระทึก ตกหลุมอากาศ แรงจนต้องขอลงจอดฉุกเฉิน

ระทึก ตกหลุมอากาศ แรงจนต้องขอลงจอดฉุกเฉิน

22-05-2024
1

เกิดเหตุระทึกขวัญกับผู้โดยสารเมื่อเครื่องบินสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่เดินทางจากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษมุ่งหน้าสู่ประเทศสิงค์โปร์เกิดเหตุการณ์ ตกหลุมอากาศอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่งจนนักบินต้องขอนำเครื่องลงฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อนำผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

เมื่อวานนี้ (21 พฤษภาคม 2567) เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER พร้อมด้วยผู้โดยสาร 211 คน และลูกเรือ 18 คน ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ 321 เดินทางจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่ประเทศสิงคโปร์ เกิดเหตุการณ์ ตกหลุมอากาศรุนแรงบริเวณน่านฟ้าประเทศอินเดีย ส่งผลให้เครื่องบินต้องขอลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทยในช่วง 15:50 น.เพื่อให้สนามบินปฏิบัติการช่วยเหลือตามแผนการฉุกเฉิน อ้างตามรายงานของ ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิต่อข่าวจากสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าในเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 70 ราย เป็นผู้บาดเจ็บวิกฤติหรือสาหัสถึง 7 ราย โดยผู้เสียชีวิตเป็นชายชาวอังกฤษอายุ 73 ปี ที่มีอาการป่วยเรื่องโรคหัวใจอยู่แล้วและคาดว่าอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในครั้งนี้ รายงานข่าวยังระบุอีกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ต้องมีผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บและผู้โดยสานอื่นๆจากเที่ยวบินนี้จำนวนมากต้องพักรักษาตัวและคอยอยู่ในพื้นที่พักรอการเดินทางเพื่อให้มีการนำเครื่องบินจากสิงคโปร์มารับผู้ที่พร้อมเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป

11

 

สาเหตุของเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่เครื่องบินเกิดการ ตกหลุมอากาศ จึงทำให้เครื่องเสียการทรงตัวไปชั่วคราว การเกิดการตกหลุมอากาศนั้นเกิดได้ตามปกติ มักเกิดจากการที่เครื่องบินต้องบินผ่านเข้าไปในช่วงที่มีอากาศแปรปรวน (Air Turbulence)โดยทั่วไปแล้วเครื่องบินที่เราเห็นนั้นบินอยู่ได้ในอากาศโดยอาศัยความเร็วและแรงยกตัวจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกที่มีรูปทรงพิเศษอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยปกติอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกก็จะราบเรียบและมีความหนาแน่นของอากาศเท่าๆกัน เครื่องบินจึงบินผ่านอากาศได้อย่างราบรื่น แต่ปกติแล้วมวลอากาศบนท้องฟ้าก็มีการเคลื่อนตัวเองของมันอยู่เสมอ ทั้งมวลอากาศร้อน อากาศเย็น ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมก็มีการเคลื่อนย้ายไปมาอยู่บนท้องฟ้าอยู่อย่างต่อเนื่องเกิดเป็นลมหรืออาจมีการสะสมไอน้ำเกิดเป็นเมฆ กระแสลมที่พัดไปมาบนท้องฟ้าก็เป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งที่ทำให้มวลอากาศที่ไหลผ่านปีกเครื่องบินไม่ราบเรียบ หรือบางครั้งกระแสลมจากด้านล่างพัดปะทะกับแนวเขาแล้วเกิดเป็นกระแสอากาศพัดขึ้นสู่ด้านบนก็ทำให้เกิดความแปรปรวนของกระแสอากาศบริเวณนั้นได้ การเกิดความแตกต่างของมวลอากาศหรือความหนาแน่นของอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดความปั่นป่วนของสภาพอากาศ เมื่อเครื่องบินบินเข้าไปปะทะเข้าก็จะเกิดอาการสั่นสะเทือน (คล้ายๆเมื่อเราขับรถตกหลุมหรือผ่านน้ำท่วมขังด้วยความเร็ว) เครื่องบินอาจเกิดอาการเสียการทรงตัว เสียการควบคุมชั่วคราว หล่นจากเพดานบินปกติได้

 

1

 

โดยทั่วไปแล้วการตกหลุมอากาศมักไม่รุนแรงและสามารถหลีกเลี่ยงหรือแจ้งเตือนผู้โดยสารได้ แต่ก็มักจะมีบางครั้งที่อาจจะไม่ทันได้แจ้งเตือนจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ตกหลุมอากาศให้เราได้ระทึกใจกันได้ อ้างอิงข้อมูลจากสำนักอุตุนิยมวิทยาได้แบ่งระดับของหลุมอากาศไว้ 4 ระดับตั้งแต่

ระดับรุนแรงน้อย Light: ผู้โดยสารอาจไม่สามารถรับรู้การสั่นสะเทือนได้เลย

ระดับปานกลาง Moderate: ผู้โดยสารอาจมีอาการโยกคลอนหรือโยนตัวขึ้นจากที่นั่งเป็นครั้งคราว ทำให้ต้องรัดเข็มขัดอยู่กับที่นั่งเอาไว้ก่อน

ระดับรุนแรงมาก Severe: ผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นลงอย่างรุนแรง นักบินอาจไม่สามารถควบคุมเครื่องได้ชั่วคราว เป็นระดับที่อันตรายอาจมีการบาดเจ็บได้

 

ระดับรุนแรงมากที่สุด Extreme: เป็นระดับที่พบน้อยมาก เครื่องบินอาจถูกความแปรปรวนของอากาศทำให้ถูกโยนตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงมาก และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเครื่องและการบินได้

อันตรายจากการเกิดการตกหลุมอากาศโดยปกติแล้วจะไม่รุนแรงแต่ก็อาจได้รับบาดเจ็บจากข้าวของภายในเครื่องที่ปลิวมาชนเราได้ นอกจากเราจะต้องรัดเข็มนิรภัยเพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกโยนขึ้นไปชนกับเพดานเครื่องได้แล้วเราก็จะต้องระมัดระวังข้าวของที่ปลิวไปมาระหว่างเครื่องตกหลุมอากาศอีกด้วย

(ทางศูนย์ข่าววิทยาศาสตร์ อพวช. ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตมา ณ ที่นี้ด้วย)

 

แหล่งที่มาของภาพและข่าว

https://www.bbc.com/thai/articles/c3ggk2g5xpyo

https://www.thenationalnews.com/travel/2023/12/21/types-of-turbulence/

https://www.sanook.com/news/9388978/

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2787403

https://www.thaipbs.or.th/news/content/340243

 

ผู้เรียบเรียง

ดร.ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา

ผู้อำนวยการกองสื่อสารวิทยาศาสตร์

ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ