ไข้เลือดออกบราซิลระบาดหนัก นักวิจัยพัฒนายุงต้านไข้เลือดออก เตรียมปล่อยสู่ธรรมชาตินับล้านตัว หวังลดการระบาดของโรค
ปัจจุบันประเทศบราซิลเผชิญกับปัญหาโรคไข้เลือดออกระบาด จากสภาพอากาศร้อนชื้นขึ้น เหมาะกับการดำรงเผาพันธุ์ของยุงลาย ทำให้ประชาชนบราซิลป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกร่วม 1 ล้านคน ในระยะเวลา 3 เดือน ทีมนักวิจัยจากโครงการยุงโลก (The World Mosquito Program) เตรียมแก้ปัญหานี้โดยการปล่อยยุงลาย (Aedes aegypti) ที่มีภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออก ให้ออกไปผสมพันธุ์กับยุงธรรมชาติในหลายพื้นที่ของประเทศบราซิล หลังจากนั้นยุงตัวเมียจะผลิตยุงรุ่นลูกที่มีภูมิต้านทานโรคไข้เลือดออกเช่นกัน และไม่เป็นพาหะมาสู่คน
นักวิจัยทดลองทำให้ยุงลายติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia เมื่อเชื้อเจริญเติบโตในตัวยุง จะเข้าไปแย่งอาหารและทรัพยากรอื่น ๆ ทำให้ไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งเป็นต้นตอของไข้เลือดออกเพิ่มจำนวนได้ยากขึ้น โดยชาวบราซิลตั้งชื่อไข่และตัวอ่อนของยุงที่ติดแบคทีเรียดังกล่าวว่า “Wolbitos” และเรียกวิธีการนี้ว่า Wolbachia เช่นเดียวกับชื่อแบคทีเรีย
โครงการยุงโลกเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ปัจจุบันมีกำลังการเพาะพันธุ์ยุงตัวเต็มวัยได้ 1.5 ล้านตัว และสามารถผลิตไข่ยุงได้มากถึง 10 ล้านฟองต่อสัปดาห์ โดยในปี 2021 ได้เริ่มปล่อยยุงจากตัวอ่อน Wolbitos ที่เมืองนิเตรอย ในบราซิล เป็นเมืองแรก พบว่าลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้ 69% ไข้ชิคุนกุนยาลดลง 56% และไข้ซิกาลดลง 37% จึงทำให้ทีมนักวิจัยริเริ่มการปล่อยยุงขึ้นมาอีกครั้งในปี 2024 นี้ ครอบคลุมเมือง รีโอเดจาเนโร เบโลโอรีซอนชี กัมโปกรันเด เปโตรลีนา และนิเตรอย
แหล่งที่มาของข่าว
ผู้เรียบเรียง
ณฐพรรณ พวงยะ
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ