เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา เกิดไฟไหม้ที่เขาแหลม-เขาชะพลู จ. นครนายก ไฟไหม้ลุกลามจนทำให้ภูเขากลายเป็นทะเลเพลิง
ปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าลุกลาม รวดเร็ว เนื่องจากป่าบริเวณนั้นส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ประกอบกับช่วงกลางวันอากาศร้อนและลมแรง ทำให้ไฟขยายวงกว้างขึ้น เกิดจุดประทุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้เป็นเขาสูงชัน เป็นอุปสรรคทำให้เจ้าหน้าที่เข้าดับเพลิงได้ยาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ในครั้งนี้ยังสรุปไม่ได้ชัดๆ ว่าเกิดจากอะไร แต่แน่นอนว่าเกิดผลกระทบต่อผู้คน และสิ่งมีชีวิตมากมาย
การเกิดไฟป่าในป่าผลัดใบบางพื้นที่เป็นวงจรปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นวงจรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดข้อดีบางประการต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ทำให้เกิดหญ้าระบัดซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า ทำให้เมล็ดพืชงอกและเจริญเติบโตต่อไปได้ ป้องกันการระบาดของแมลงและโรคพืช ซึ่งในธรรมชาติแล้วต้นไม้ในพื้นที่ป่าผลัดใบจะมีกลไกป้องกันและฟื้นฟูตัวเองจากไฟป่า
แต่...เมื่อสภาวะภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป กิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นต้นกำเนิดไฟ ทำให้ไฟป่าที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมากขึ้น มีความถี่ในการมากขึ้น และไม่มีแบบแผนในการเกิดที่คาดเดาได้ดังเช่นในอดีต เมื่อเป็นดังนี้แล้ว “ธรรมชาติที่เคยควบคุมผลที่เกิดจากไฟป่าของตัวเองได้ กลับไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป” หายนะอันยิ่งใหญ่เลยกลับมาสู่สิ่งมีชีวิตและวนเวียนมาสู่มนุษย์ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของความแปรปรวนนี้
กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น ทำให้ป่ามีความแห้งแล้งมากกว่าปกติ พืชพรรณที่แห้งปกคลุมพื้นป่า คือ เชื้อเพลิงชั้นดี จุดติดไฟและเกิดการลุกลามของไฟได้อย่างรวดเร็ว
ปัญหาที่เห็นได้ชัดตามมา คือ ไฟป่าที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดฝุ่นควัน และฝุ่นอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นทุกครั้งที่เกิดไฟป่ารุนแรงจะเกิดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลกลับขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้นำไปสู่สภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นและวนกลับมาเป็นวงจรกระตุ้นการเกิดไฟป่าต่อไปแบบไม่รู้จบ
นอกจากสัตว์ป่าที่ต้องรับเคราะห์ หนีตายจากแหล่งที่อยู่อาศัยแล้ว ป่าใกล้เคียงอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย การลุกลามของไฟป่าไปยังพื้นที่ป่าบางชนิด เช่น ป่าดิบ ทำให้พืชพรรณได้รับความเสียหาย เนื่องจากพืชพรรณในป่าเหล่านี้ไม่ได้มีกลไกป้องกันตัวเองจากไฟป่า และต้องใช้อีกยาวนานกว่าจะผืนป่าเหล่านี้จะฟื้นฟูตัวเองกลับมาได้
ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้า...เมื่อเราลองนึกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น นึกถึงรู้สึกความทุกข์ของสัตว์ป่าที่สูญเสียบ้าน สูญเสียสมาชิกจำนวนมากในคราเดียว นึกถึงผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม และผลที่สุดท้ายจะวนเวียนกลับมาหาพวกเราทุกคน เพียงเพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์
หากเกิดไฟไหม้ป่า สิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถช่วยกันได้ คือ คอยเป็นหูเป็นตา และช่วยกันรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อพบเจอไฟป่า หรือหากพบสัตว์ป่าหนีไฟออกมา ได้รับบาดเจ็บหรือเดือดร้อน ให้รีบแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่าที่เบอร์ 1362
สุดท้ายนี้ การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไขเสมอ “หยุดทำลายธรรมชาติ โดยการตักตวงทรัพยากรด้วยความเห็นแก่ตัว และพึกระลึกถึงธรรมชาติและส่วนรวมก่อนเสมอ”
เรื่อง/ภาพ: Nat.รุ่ง รุ่งทิพย์
สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา