จีนอนุมัติวัคซีนต้านโรคโควิด-19 (COVID-19) 3 รายการ เพื่อนำไปทดลองทางคลินิก

จีนอนุมัติวัคซีนต้านโรคโควิด-19 (COVID-19) 3 รายการ เพื่อนำไปทดลองทางคลินิก

29-04-2022
จีนอนุมัติวัคซีนต้านโรคโควิด-19 (COVID-19) 3 รายการ เพื่อนำไปทดลองทางคลินิก

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อโรคโควิด-19 (COVID-19) สิ่งที่แต่ละประเทศสามารถทำได้ในขณะนี้ คือ การใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือและชะลอการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ขณะที่หลายหน่วยงานและบริษัทผู้ผลิตยาและวัคซีนทั่วโลก กำลังเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่เป็นความหวังในการหยุดยั้งและรักษาโรคนี้ให้ได้ในเร็ววัน

ล่าสุด วันอังคารที่ 14 เมษายน 2563 เจ้าหน้าที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (MOST) เปิดเผยว่า จีนได้อนุมัติวัคซีนเพื่อต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) จำนวน 3 รายการ สำหรับการทดลองทางคลินิก

วู หยวนบิน (Wu Yuanbin) ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน กล่าวว่า วัคซีนชนิดใช้อะดิโนไวรัสเป็นพาหะ (Adenovirus vector vaccine) ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยซึ่งนำโดย เฉิน เหว่ย (Chen Wei) ร่วมกับสถาบันการแพทย์ทหารในสังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทหาร โดยเป็นวัคซีนรายการแรกที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าสู่การทดลองทางคลินิก

การทดลองทางคลินิกระยะแรกของวัคซีนเสร็จสิ้นช่วงสิ้นเดือนมีนาคม ส่วนการทดลองทางคลินิกระยะที่สองเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนโรคโควิด-19 รายการแรกของโลก ที่เข้าสู่การทดลองทางคลินิกระยะที่สอง

วันที่ 13 เมษายน 2563 สง เจิ้งซิ่ง (Xiong Zhengxing) ชายชราอายุ 84 ปี ในเมืองฮู่ฮั่น เข้ารับการฉีดวัคซีนดังกล่าว และกลายเป็นอาสาสมัครที่อายุมากที่สุดในการทดลองทางคลินิกระยะที่สอง โดยการทดลองทางคลินิกระยะที่สองแตกต่างจากระยะที่หนึ่ง เพราะไม่ได้มีการกำหนดอายุผู้เข้ารับการทดลอง และเปิดให้อาสาสมัครที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการทดลองวัคซีนได้

เฉิน ระบุว่า ในบรรดาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่อยู่ในภาวะวิกฤตนั้น มีผู้สูงอายุค่อนข้างมาก ซึ่งวัคซีนจะช่วยเป็นเกราะป้องกันโรคให้พวกเขาเหล่านั้น โดยในบรรดาวิธีการดังกล่าว วัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นพาหะนั้น จะใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพา ซึ่งจะนำพายีนของสไปค์โปรตีน (Spike protein) ซึ่งเป็นโปรตีนหลักที่อยู่บริเวณผิวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ใช้ในการจับกับตัวรับเพื่อเข้าสู่เซลล์ ทำให้ร่างกายของผู้รับวัคซีนเกิดการจดจำภูมิคุ้มกันสไปค์โปรตีน จึงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายและหยุดยั้งการบุกรุกของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อได้รับเชื้อไวรัส การทดลองทางคลินิกระยะแรก มีการให้วัคซีนกับอาสาสมัครจำนวน 108 คน จนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยทุกคนผ่านกระบวนการสังเกตการณ์ทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด แล้วพบว่ามีสุขภาพที่ดี

ส่วนการทดลองทางคลินิกระยะที่สองของวัคซีนชนิดใช้อะดิโนไวรัสเป็นพาหะ จะเปิดรับอาสาสมัครจำนวน 500 คน พร้อมทั้งกลุ่มควบคุมที่ใช้ยาหลอก (Placebo) เพื่อประเมินความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของวัคซีน โดยในเวลา 17.00 น. ของวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนแล้วจำนวนทั้งสิ้น 273 คน

ความพยายามคิดค้นและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการทดลองเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะยังอยู่กับมนุษย์และโลกของเราไปอีกนาน รวมถึงอาจกลายพันธุ์และก่อโรคที่รุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การรู้จักวิธีดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะปกป้องเราให้ห่างไกลจากไวรัสมหาภัยนี้ได้ทั้งในวันนี้และในอนาคต

 

ที่มา :
Huaxia. China approves three COVID-19 vaccines for clinical trials. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/2020-04/14/c_138975722.htm [16 เมษายน 2563]
คำค้น : ไวรัสโคโรนา, SARS-CoV-2, COVID-19


ผู้แปลและเรียบเรียง : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.