ยีนกลายพันธุ์ที่นอนน้อยแต่สดชื่น

ยีนกลายพันธุ์ที่นอนน้อยแต่สดชื่น

29-04-2022
ยีนกลายพันธุ์ที่นอนน้อยแต่สดชื่น

การนอน เป็นการพักผ่อนที่สำคัญมากสำหรับมนุษย์ โดยปกติเราควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้อวัยวะในร่างกายได้พักฟื้น ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหนัก หากเราพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้เวลาส่วนใหญ่เรียนหนังสือ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนลืมเวลาพักผ่อน แต่พวกเขากลับสามารถตื่นขึ้นมาอย่างกระปรี้กระเปร่า สดใสร่าเริง โดยไม่มีอาการง่วงซึมเหมือนคนทั่วไป

          นั่นเป็นเพราะว่า พวกเขามียีนที่ช่วยให้เราสามารถฟื้นฟูร่างกายโดยการนอนเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น นั่นคือ ยีนนอนน้อย หรือ DEC2 ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยของศาสตราจารย์ ฝู หยิงฮุยและคณะ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก (UCSF) ของสหรัฐอเมริกา

จากการศึกษา พบว่า มียีนกลายพันธุ์ชนิดที่หายากพบได้น้อยในกลุ่มคนทั่วไป นั่นคือ ยีนกลายพันธุ์ ADRB1 พวกเขาจะสามารถนอนน้อยกว่าบุคคลทั่วไปราวๆ 2 - 4  ชั่วโมงต่อคืน ทำให้พวกเขาใช้เวลานอนพักผ่อนแค่เพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน ก็สามารถตื่นมาใช้ชีวิตประจำวันในวันรุ่งขึ้นได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องนอนหลับสนิทเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนได้เต็มที่

          จากการศึกษา นักวิจัยดังกล่าวยังได้ชี้ให้เห็นว่า ยีนกลายพันธุ์ชนิดนี้พบน้อยมากในกลุ่มคนทั่วไป ฉะนั้นการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ วันละ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากต่อสุขภาพและร่างกายของเรา


ผู้เรียบเรียง นายอภินันท์ เปลี่ยนจันทร์

ที่มาภาพ https://www.bbc.com/thai/features-49555082

ที่มาข้อมูล

BBC NEWS ประเทศไทย (2562). สุขภาพ : นอนน้อยเพียงคืนละ 4 ชั่วโมงไม่อ่อนเพลีย หากมียีนกลายพันธุ์. จาก https://www.bbc.com/thai/features-49555082 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 15 กันยายน 2562