นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบวิธีการเปลี่ยนขยะพลาสติกเหลือทิ้ง ให้กลายเป็นตัวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประสิทธิภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรม งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร ACS Nano เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยวัสดุดูดซับ CO2 นี้ผลิตขึ้นจากขยะพลาสติกประเภทที่มีปริมาณคาร์บอนคงตัวต่ำ ได้แก่ พอลิโพรพิลีน (Polypropylene, PP) พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene, HDPE) และพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene, LDPE) ซึ่งเป็นพลาสติกส่วนใหญ่ที่ได้จากขยะในชุมชน โดยนำมาบดให้เป็นผงแล้วให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 นาที ร่วมกับการเติมโพแทสเซียมอะซิเตต (Potassium Acetate) ซึ่งจะได้วัสดุดูดซับที่มีรูพรุนขนาดประมาณ 0.7-1.4 นาโนเมตร ที่สามารถดักจับโมเลกุล CO2 ได้ถึงร้อยละ 18 ของน้ำหนักตัว นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตวัสดุดูดซับยังให้ผลพลอยได้คือขี้ผึ้งซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นผงซักฟอกหรือสารหล่อลื่นได้อีกด้วย
วัสดุดูดซับนี้สามารถนำไปใช้ดักจับ CO2 ที่ปล่อยออกจากปล่องไอเสียของโรงไฟฟ้าได้ เพื่อช่วยลดปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกสู่อากาศ โดยจากการประมาณค่าใช้จ่ายในการดักจับ CO2 ด้วยวัสดุดูดซับนี้พบว่าสามารถลดต้นทุนในกระบวนการดักจับ CO2 จากปล่องไอเสียของโรงงานไฟฟ้าได้ถึง 59-139 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากกระบวนการดักจับและกำจัด CO2 ในปัจจุบันมักใช้กระบวนการดูดซับด้วยเอมีน (Amine Absorption Process) ซึ่งต้องใช้พลังงานสูงในการกำจัด CO2 ออกจากสารละลายเอมีนเพื่อนำเอมีนกลับมาใช้ใหม่ แต่สำหรับวัสดุดูดซับชนิดใหม่นี้ สามารถกำจัด CO2 ออกจากวัสดุที่เป็นของแข็งได้ง่ายและสูญเสียพลังงานน้อยกว่า การค้นพบในครั้งนี้จึงถือเป็นข่าวดีที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปัญหาขยะพลาสติกและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปัจจุบันกำลังเพิ่มปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ภาพจาก: https://www.shutterstock.com/th/image-photo/air-pollution-by-smoke-coming-three-1028668270
เรียบเรียงโดย: อภิชญา กาปัญญา นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาข้อมูล :