แอมโมเนียจากการผลิตน้ำแข็ง รั่วฟุ้งรัศมี 1 กิโลเมตร ทำชาวบ้านเจ็บป่วย บางรายถึงขั้นหมดสติ ด้านเจ้าหน้าที่เร่งอพยพผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่โดยด่วน
จากเหตุการณ์ชาวบ้านในระแวกได้ยินเสียงระเบิดที่โรงงานผลิตน้ำแข็งแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมพบเห็นกลุ่มควันลอยหนาแน่นในคืนวันที่ 17 เมษายน 2567 มีรายงานว่า พนักงานโรงงานและชาวบ้านสูดดมควันดังกล่าวเข้าไป ทำให้เกิดอาการแสบตาและจมูก บางรายถึงขั้นหมดสติ จึงได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ป้องกันภัยพิบัติทางบกเทศบาลหนองปรือ หน่วยกู้ภัยสว่างบริบูรณ์ธรรมสถานเมืองพัทยา กู้ภัยเพียวเยี้ยงไท้ ศรีราชา มูลนิธิกู้ภัยอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เข้าตรวจสอบพื้นที่ พบว่า มีสารแอมโมเนียรั่วไหลจากการระเบิด ฟุ้งกระจายในรัศมี 1 กิโลเมตร จึงได้สั่งอพยพ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และส่งผู้ประสบภัยไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยการฉีดน้ำเพื่อลดระดับการกระฟุ้งกระจายของแอมโมเนียในอากาศ และเข้าไปการปิดวาล์วของท่อส่งที่เกิดเหตุ ก่อนกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงเวลาประมาณ 03.00 น.
ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) เป็นก๊าซพิษและมีความสามารถในการกัดกร่อนสูง ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ถูกบัญญัติเป็นวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แต่มีประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เช่น การใช้เป็นสารทำความเย็นของอุตสาหกรรมผลิตน้ำแข็ง ห้องเย็น และการทำปุ๋ยเคมี จึงมีการนำแอมโมเนียออกมาใช้ประโยชน์ภายใต้การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษแก่มนุษย์และสิ่งแวดล้อม
ผู้ที่สัมผัสหรือสูดดมก๊าซแอมโมเนียเข้าไปอาจเกิดอาการหายใจไม่สะดวก แสบจมูก แสบตา ทางเดินหายใจระคายเคือง วิงเวียนศีรษะ หมดสติ ร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ การสัมผัสสารเคมีโดยตรงอาจทำให้เกิดแผลไหม้จากความเย็นจัด แต่เมื่อสูดดมหรือสัมผัสไปแล้ว การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้รีบพาผู้ป่วยไปที่ที่อากาศถ่ายเท คลายเสื้อผ้า ตรวจสอบการหายใจของตนเอง และล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำปริมาณมาก และควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
และหากมีการปนเปื้อนของแอมโมเนียลงแหล่งน้ำจะทำให้สัตว์น้ำตาย และหากปนเปื้อนในอากาศจะไปรวมตัวกับก๊าซออกซิเจนได้สารประกอบกลุ่มในโตรเจน (NOx) ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนโลหะ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุก๊าซพิษรั่วไหลเช่นในข่าวข้างต้น การเข้าไปควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่หรือแม้แต่ชาวบ้านผู้ประสบภัยเอง จำเป็นต้องสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชุดป้องกัน เครื่องช่วงหายใจ ถังออกซิเจน หน้ากากและแว่นป้องกันสารเคมีระดับสูง เป็นต้น
ที่มาของข่าว
https://www.thaipbs.or.th/news/content/339128
http://lib.mnre.go.th/book/nh3_reo3.pdf
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000033469
https://www.thairath.co.th/news/local/east/2779097
ผู้เรียบเรียง
ณฐพรรณ พวงยะ
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ