ค้นพบแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลกจากดินที่ราบสูง

ค้นพบแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลกจากดินที่ราบสูง

29-04-2022
ค้นพบแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่ของโลกจากดินที่ราบสูง

            การค้นพบแมลงช้างกรามโตชนิดใหม่นี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ อพวช. โดยคุณกัลยกร พิราอรอภิชา นักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การดูแลของรองศาสตราจารย์ ดร. นฤมล แสงประดับ และ ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง เก็บตัวเต็มวัยของแมลงช้างกรามโตขนาดเล็กได้จากบริเวณลำธารต้นน้ำห้วยเหล็ก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย หลังจากร่วมกันพิจารณา ศึกษาตัวอย่างอย่างละเอียด เทียบกับตัวอย่างต้นแบบของแมลงช้างกรามโตชนิดอื่น ๆ ที่เป็นญาติใกล้ชิดกันแล้ว พบว่าแมลงช้างชนิดนี้เป็นชนิดใหม่ของโลก และได้ตั้งชื่อว่า “แมลงช้างกรามโตสยาม Indosialis siamensis” ตามชื่อเดิมของประเทศไทย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารระดับนานาชาติ Zootaxa ฉบับที่ 4786 หน้าที่ 233–253 วันที่ 2 มิถุนายน 2563 แมลงช้างกรามโตชนิดนี้ยังเป็นแมลงช้างถิ่นเดียวของไทย ยังไม่พบในประเทศอื่น ๆ

11 wee 02

 

11 wee 03

 

            ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากญาติใกล้ของแมลงชนิดนี้คือ สีของส่วนหัว อก และลำตัวสีน้ำตาล ในขณะที่แมลงชนิดอื่นในสกุลเดียวกันมีหัวและอกสีส้ม และส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ มีถุงขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน แมลงช้างชนิดใหม่นี้เป็นชนิดที่สามารถปรับตัวได้ค่อนข้างดี โดยตัวอ่อนสามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารโลหะหนักได้เป็นอย่างดี ตัวอ่อนมีบทบาทเป็นผู้ล่าในระบบนิเวศแหล่งน้ำ พวกมันจึงอาจช่วยทำให้ระบบนิเวศแหล่งน้ำอยู่ในสภาพสมดุลได้ทางหนึ่ง

11 wee 04

 

              งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการช่วยเหลือจาก Prof. Xingyue Liu จาก Department of Entomology, China Agricultural University สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.)

ผู้เรียบเรียง : กัลยกร พิราอรอภิชา

ที่มาของภาพ: กัลยกร พิราอรอภิชา

ที่มาข้อมูล : วารสารระดับนานาชาติ Zootaxa ฉบับที่ 4786 หน้าที่ 233–253