ผวา พบกากแคดเมียม 15,000 ตัน ซุกโรงงานย่านชุมชนมหาชัย

ผวา พบกากแคดเมียม 15,000 ตัน ซุกโรงงานย่านชุมชนมหาชัย

05-04-2024
1

ผู้ว่าฯ สมุทรสาครสั่งปิด 90 วันหลังเข้าตรวจค้นโกดังของโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองพบกากแคดเมียมถูกเก็บเอาไว้มากถึง 15,000 ตัน เร่งจัดการให้เสร็จในเจ็ดวัน

เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้นำทีมร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครเข้าตรวจสอบโรงงานหลอมอลูมิเนียมแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสมุทรสาคร พบถุงบิ๊กแบ็คขนาดใหญ่จำนวนมากถูกวางเก็บซ้อนทับกันอยู่ในโกดังของโรงงานโดยพบว่าเป็นกากแคดเมียมมากถึง 1,000 ถุง หรือน้ำหนักว่า 15,000 ตัน และยังมีบางส่วนอยู่นอกโกดังอีกด้วย พนักงานผู้ทำงานในโรงงานแห่งนี้ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มขนย้ายกากสังกะสีและแคดเมียมมาไว้ในโรงงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และยังไม่มีการเอากากสังกะสีและแคดเมียมเข้าสู่กระบวนการหลอมแต่อย่างใด

การเข้าตรวจค้นดังกล่าวเป็นการเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการอุตสาหกรรมสภาผู้แทนราษฎรได้รับการร้องเรียนมาว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตากได้มีการเคลื่อนย้ายการกากแร่สังกะสีและกากแคดเมียมไปบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาครเป็นจำนวนมากกว่าหมื่นตัน ซึ่งกากแร่ดังกล่าวโดยเฉพาะแคดเมียมหากมีการจัดเก็บจัดการไม่ดีและมีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมหรือปนเปื้อนสู่ผู้คนก็จะเป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งและโรคอื่นๆได้

ผลจากการตรวจค้นครั้งนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้สั่งปิดโรงงานไม่ให้มีการเข้าออกพื้นที่เป็นเวลา 90 วัน และให้เร่งดำเนินการขนย้ายกากแคดเมียมเข้ามาเก็บในโกดังพร้อมทั้งสั่งให้ขนย้ายกลับไปจัดการที่โรงงานถลุงแร่สังกะสีต้นทางที่จังหวัดตากเพื่อทำการกำจัดด้วยการฝังกลบแบบถาวรในบ่อซีเมนต์ ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีกระบวนการและได้มีการทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการประกอบการถลุงแร่สังกะสีและจัดการกับของเสียที่เกิดจากกระบวนการไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ บก.ปทส. ก็ได้เร่งตรวจสอบผลกระทบในผู้ปฏิบัติงานในโรงงานและผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าวแต่ก็ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพแต่อย่างใด และคงต้องติดตามกระบวนการรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขนย้ายและจัดการกำจัดอย่างใกล้ชิด

 

1

 

โดยทั่วไปแล้วเราใช้ประโยชน์จากแคดเมียม (Cd) ในหลากหลายด้าน โลหะแคดเมียมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมชุบโลหะเพื่อป้องกันสนิมหรือการสึกหลอ การเสริมคุณภาพของโลหะสร้างเป็นโลหะที่เหนียวอย่างโลหะอัลลอย (Alloy) เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมแบตเตอรีที่สามารถประจุไฟใหม่ได้ ใช้ผสมเป็นเม็ดสีในอุตสาหกรรมสี รวมไปถึงใช้เป็นสารเคมีฆ่าเชื้อราและกำจัดแมลงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามแคดเมียมก็สามารถเป็นพิษต่อร่างกายเราได้

ในอดีต ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากได้ป่วยเป็นโรคลึกลับที่เกิดการผิดปกติของกระดูก แขน ขา สะโพก รวมถึงฟัน พวกเขามีอาการเจ็บปวดทรมานอย่างมากทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวจนถึงขั้นต้องร้องโอดโอยเสมอ และเป็นที่มาของชื่อโรค อิไต-อิไต ที่มีความหมายถึงเจ็บปวดมากจริงๆ จนต่อมาพบว่าสาเหตุของโรคนี้เกิดจากพวกเขาได้รับสารแคดเมียมจากอาหารที่กินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ปลา หรือพืชผัก ในบริเวณนั้นต่างก็ถูกปนเปื้อนไปด้วยแคดเมียมซึ่งมันก็ถูกปล่อยออกมากับน้ำเสียจากโรงงานสารเคมีในบริเวณนั้นนั่นเอง

ปกติแล้วแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายเราได้ 2 ทาง คือ กินเข้าไป หรือไม่ก็ สูดดมเข้าไป การกินก็จะผ่านจากอาหารที่เติบโตดูดซึมเอาแคดเมียมในน้ำ ในดิน ที่มีแคดเมียมละลายอยู่ เราเอามาประกอบอาหารผ่านความร้อนก็ไม่หาย มันจะเข้าสู่ร่างกายค่อยๆสะสมจนเกิดผลกับสุขภาพอย่างโรค อิไต-อิไต นั่นเอง ส่วนการสูดดมก็มักจะเกิดขึ้นกับผู้คนที่ทำงานในโรงงานถลุงแร่ เพราะแคดเมียมเป็นโลหะที่มักปนอยู่กับโลหะหลายชนิดเช่น ตะกั่ว สังกะสี และทองแดง เมื่อใช้ความร้อนสูง (เกินกว่า 321 องศาเซลเซียส) แคดเมียมจะกลายสภาพเป็นควันกระจายสู่สิ่งแวดล้อม หากไม่มีการจัดการที่ดีผู้ทำงานใกล้ชิดก็จะสูดดมเข้าไปสร้างผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

แม้ประเทศไทยจะไม่มีการผลิตแคดเมียมในเชิงอุตสาหกรรมหนักแต่ก็บพบแคดเมียมได้จากการผลิตสังกะสี และหากดูผ่านๆกากเหล่านั้นก็จะคล้ายๆกับก้อนหินหรือก้อนแร่ธรรมดา ซึ่งหากจัดการกับกากแคดเมียมที่ได้มาไม่ดีก็จะเกิดเป็นมลพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนได้เช่นกัน

 

1

 

ข้อมูลเพิ่มเติมและแหล่งที่มาของข่าว

https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4509971

https://www.thaipbs.or.th/news/content/338782

https://www.youtube.com/watch?v=vY7bVxRrNLw

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000029877

https://www.thaipbs.or.th/news/content/338776

https://www.thairath.co.th/news/society/2776176

 

ผู้เรียบเรียง

ดร.ชนินทร์ สุริยกุล ณ อยุธยา

ผู้อำนวยการกองสื่อสารวิทยาศาสตร์

ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ