นักวิจัยไทย พาหอยทากบกเรืองแสงชนิด Phuphania crossei คว้ารางวัล “หอยนานาชาติประจำปี 2024”
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เว็บไซต์ Senckenberg ได้รายงานว่า หอยทากบกเรืองแสงของประเทศไทย Phuphania crossei หรือ Living Glow Stick ได้รับคัดเลือกให้เป็น หอยนานาชาติประจำปี 2024 หรือ International Mollusc of the Year 2024 โดยได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากหอยที่เข้ารอบสุดท้าย 5 ชนิดทั่วโลก ซึ่งหอยทากบก Phuphania เป็นสกุลใหม่ของโลกที่ถูกค้นพบเมื่อปี 2550 โดยชื่อสกุลตั้งมาจากชื่อของเทือกเขาภูพาน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่ค้นพบหอยสกุลนี้ชนิดแรก
โดยในปี 2566 ทีมของ ศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย ดร.อาทิตย์ พลโยธา, รศ.ดร. จิรศักดิ์ สุจริต และ ผศ.ดร. ปิโยรส ทองเกิด อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคุณ Yuichi Oba จากมหาวิทยาลัยชูบุ (Chubu University) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันศึกษาการเรืองแสงทางชีวภาพของหอยสกุลดังกล่าว
Phuphania crossei เป็นหอยทากบก ที่มีเปลือกหนา ลำตัวสีน้ำตาลอมเหลือง มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถเรืองแสงได้ (Bioluminescence) ในรูปแบบของแสงสีเขียว ซึ่งปัจจุบันมีหอยทากบกสกุล Phuphania หลายชนิดที่สามารถเรืองแสงได้ เช่น P. globose, P. carinata และ P. costata โดยพวกมันสามารถเรืองแสงออกมาได้อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งอาศัยปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกาย (luciferin-luciferase reaction) ที่ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นใด ๆ การเรืองแสงดังกล่าว มาจากเซลล์เรืองแสง หรือ luminous cells ที่พบบริเวณแผ่นเนื้อเยื่อใต้เปลือกที่ห่อหุ้มอวัยภายใน (mantle), แผ่นเนื้อเยื่อบริเวณขอบเปลือก (mantle collar) และ ขอบเท้า (foot margin) แต่ลักษณะพิเศษของหอยทากบกเรืองแสงชนิด P. crossei ที่ทำให้มันโดดเด่นกว่าชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน คือ เป็นชนิดเดียวที่มีเซลล์เรืองแสงอยู่บริเวณเท้าส่วนหน้า (anterior foot) โดยการชนะในการประกวดครั้งนี้ ทำให้หอยทากเรืองแสงไทย P. crossei จะถูกนำไปวิเคราะห์จีโนม (Genomic DNA) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยในอนาคต โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษาการเรืองแสงทางชีวภาพของหอยชนิดนี้เพิ่มเติมได้ในวารสาร Scientific Reports หมวด Nature
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
ผู้เรียบเรียง
นางสาวศรสวรรค์ เลี่ยมทอง
นักวิชาการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ