เดือน เมษายน พ.ศ. 2565 หอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป (European Southern Observatory หรือ ESO) ได้เผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ เรื่อง การค้นพบปรากฏการณ์ใหม่ โดย ซิโมน สการ์ริงกิ (Simone Scaringi) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอแรม (Durham University) สหราชอาณาจักร และเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ไมโครโนวา (Micronova)
โนวา (Nova) เป็นคำที่นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ไทโค เบรย์ (Tycho Brahe) บัญญัติขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2115 จากการสังเกตปรากฏการณ์ที่แก่นดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัยเกิดการระเบิด แต่อาจมีแก่นดาวฤกษ์ที่สิ้นอายุขัยบางดวงที่ไม่ได้ระเบิดในทันที และกลายเป็นดาวแคระขาว (White Dwarf) จากนั้นดึงดูดสสารจากดาวฤกษ์อีกดวงที่โคจรคู่กัน (Binary star) เมื่อสะสมเชื้อเพลิงได้มากพอก็จะเกิดการระเบิดแบบโนวาได้เช่นกัน ในขณะที่ ซุปเปอร์โนวา (Supernova) เป็นการระเบิดที่รุนแรงมากกว่า มีความสว่างมากกว่า สามารถเกิดได้ 2 แบบ คือ เกิดจากการระเบิดดาวฤกษ์ที่มีมวลมากเผาพลาญเชื้อเพลิงจนหมดแล้วเกิดการระเบิด หรืออาจเกิดจากดาวแคระขาวสะสมสสารจากดาวคู่ได้มากพอจนระเบิดระดับซุปเปอร์โนวา
ทีมวิจัยของซิโมนพบไมโครโนวาจากการวินิจฉัยข้อมูลดาวแคระขาวสามดวง จากดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ (Transiting Exoplanet Survey Satellite หรือ TESS) ขององค์กรนาซา (NASA) นักดาราศาสตร์สังเกตว่าดาวแคระขาวทั้งสามมีความสว่างเพิ่มขึ้นเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยมีระยะเวลาสั้นกว่าปรากฏการณ์โนวา และซุปเปอร์โนวาทั่วไป
แม้จะรุนแรงน้อยกว่า โนวา และซุปเปอร์โนวา แต่ไมโครโนวานับเป็นปรากฏการณ์ระเบิดของดาวแคระขาวเช่นเดียวกัน ขณะที่โนวาเป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นทั่วพื้นผิวของดวงดาว แต่ไมโครโนวาจะเกิดขึ้นกับดาวแคระขาวที่มีสนามแม่เหล็กรุนแรงพอจะบังคับให้สสารที่ดูดมาจากดาวฤกษ์ดวงอื่น ไปสะสมบริเวณขั้วแม่เหล็กของดาวแคระขาวจนเกิดการระเบิดแค่บางจุดของพื้นผิวดาว มีขนาดความรุนแรงแค่หนึ่งในล้านส่วนของปรากฏการณ์โนวา แต่เผาผลาญเชื้อเพลิงมหาศาลถึง 20 ล้านล้านล้านกิโลกรัม
การค้นพบปรากฏการณ์ไมโครโนวายังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ นักดาราศาสตร์ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ที่ตอบสนองไวในการจับภาพ และเก็บข้อมูลเพิ่มต่อไป ซึ่งอาจช่วยให้เข้าใจกระบวนการทางนิวเคลียร์ของดาวฤกษ์เพิ่มขึ้นในอนาคต
ภาพจาก: NASA https://www.nasa.gov/mission_pages/chandra/images/double-trouble-a-white-dwarf-surprises-astronomers.html
เรียบเรียงโดย: นุชจริม เย็นทรวง นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ที่มา: