การใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เคลมว่า “BPA-free” ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเราได้ หากสารเคมีที่ใช้ทดแทนนั้นไม่ปลอดภัย
โดย Prof. Cheryl Rodenfeld นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐอเมริกา และทีมนักวิจัย ได้ศึกษาผลกระทบของสาร BPA (bisphenol A) ในสัตว์ทดลอง และพบว่าสารเคมีดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ความผิดปกติของรก และส่งผลเสียต่อสุขภาพหลังคลอด โดยปัญหานี้เป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลาย ทำให้หลาย ๆ บริษัทได้ยกเลิกการใช้สาร BPA และหันไปใช้สารเคมีอย่างอื่นทดแทนในผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น ขวดน้ำ หรือภาชนะบรรจุอาหาร และมักจะระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ว่า BPA-free แต่อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีอื่นทดแทน เช่น bisphenol S (BPS) ก็อาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคเช่นกัน
ในการทดลอง Prof. Rosenfeld และทีมนักวิจัย ได้ศึกษาการเกิดผลกระทบของ BPS ต่อรกของหนู เนื่องจากโครงสร้างของรกของหนูทดลองกับมนุษย์มีความคล้ายคลึงกัน โดยการทดลองจะศึกษารกที่ส่งต่อสิ่งที่มารดาได้รับไปยังทารกในครรภ์ได้ รวมถึงสารเคมีที่เป็นอันตรายเช่น BPS ก็สามารถถูกส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้เช่นกัน ซึ่งรกเป็นแหล่งของสารเซโรโทนิน (serotonin) สำหรับการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ โดยเซโรโทนินเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้น เป็นสารสื่อประสาทและเป็นฮอร์โมน อีกทั้งมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การนอนหลับ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชหลาย ๆ โรคอีกด้วย
เมื่อร่างกายได้รับสารเคมีสังเคราะห์จำพวก BPA หรือ BPS สารเคมีเหล่านี้จะส่งผลต่อการผลิตสารเซโรโทนินในรก โดยหากเซโรโทนินมีระดับที่ต่ำเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ ดังนั้นการได้รับสาร BPA หรือสารทดแทนอื่น ๆ เช่น BPS สามารถส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้เช่นกัน
ผู้เขียน: ฐิติยา ชุ่มมาลี
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ค้นคว้าเพิ่มเติม :
(1) https://www.honestdocs.co/serotonin-substances-affect-emotions (วันที่สืบค้น 24 ก.พ. 2563)
(2) Mao, Jiude & Jain, Ashish & Denslow, Nancy & Nouri, Mohammad-Zaman & Chen, Sixue & Wang, Tingting & Zhu, Ning & Koh, Jin & Sarma, Saurav & Sumner, Barbara & Lei, Zhentian & Sumner, Lloyd & Bivens, Nathan & Roberts, R. & Tuteja, Geetu & Rosenfeld, Cheryl. (2020). Bisphenol A and bisphenol S disruptions of the mouse placenta and potential effects on the placenta–brain axis. Proceedings of the National Academy of Sciences. 201919563. 10.1073/pnas.1919563117. (วันที่สืบค้น 24 ก.พ. 2563)