นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์พัฒนา “โลงศพมีชีวิต” สำเร็จแล้ว

นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์พัฒนา “โลงศพมีชีวิต” สำเร็จแล้ว

30-04-2022
นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์พัฒนา “โลงศพมีชีวิต” สำเร็จแล้ว

https://www.dezeen.com/2020/09/16/bob-hendrikx-living-cocoon-mycelium-coffin/

ยุคนี้ ผู้คนทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ และบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนวัตกร พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจก็คือ การจัดการศพแบบรักษ์โลก

นักวิทยาศาสตร์และนวัตกรได้พัฒนาโลงศพรักษ์โลก เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการจัดการศพที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เช่น ในปี พ.ศ. 2560 นักออกแบบชาวอิตาลีนำเสนอโลงศพรูปไข่ที่สามารถย่อยสลายไปพร้อมกับศพ และกลายเป็นปุ๋ย ที่ชื่อว่า Capsula mundi ที่แม้จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้นำมาต่อยอดให้เกิดขึ้นจริง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2563 นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์ได้คิดค้น “โลงศพมีชีวิต” ที่สามารถย่อยสลายด้วยกระบวนการตามธรรมชาติเป็นครั้งแรกของโลก

โลงศพมีชีวิต หรือ Living Cocoon เป็นผลงานของบ๊อบ เฮนดริกซ์ (Bob Hendrikx) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ (Delft University of Technology) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ต้องการสร้างโลงศพรักษ์โลกจากเส้นใยของเห็ด (Mushroom mycelium) ซึ่งทราบกันดีอยู่แล้วว่าเห็ด รา และแบคทีเรีย ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ ดังนั้นเส้นใยของเห็ดที่นำมาทำโลงศพจะช่วยย่อยสลายร่างของผู้เสียชีวิตให้กลายเป็นธาตุอาหารกลับคืนสู่พื้นดินอย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันเส้นใยของเห็ดยังทำหน้าที่ดูดซับสารพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาขณะเกิดการย่อยสลายได้อีกด้วย

โลงศพมีชีวิตจากเส้นใยเห็ดต้องใช้เวลา 1 สัปดาห์ในการเพาะเส้นใยให้เจริญเติบโตเป็นโลงศพ และเมื่อนำร่างของผู้เสียชีวิตบรรจุลงไป จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ในการย่อยสลาย ซึ่งรวดเร็วกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับการย่อยสลายร่างของผู้เสียชีวิตในโลงแบบปกติซึ่งต้องใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า 10 ปี 

ปัจจุบันโลงศพมีชีวิตจากเส้นใยเห็ดได้รับการพัฒนาโดยร่วมมือกับ Loop Biotech B.V. บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2564  สามารถนำมาใช้ประกอบพิธีศพได้จริง ด้วยราคา 1,495 ยูโร หรือประมาณ 54,900 บาท ทั้งยังได้รับการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ทางผู้พัฒนาและผู้ผลิตเชื่อมั่นว่าโลงศพมีชีวิตจะช่วยให้ชีวิตหลังความตายของมนุษย์มีคุณค่าต่อโลกมากกว่าการเหลือไว้เพียงความทรงจำ

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

แหล่งข้อมูล:

Bob Hendrikx designs "living coffin" from mushroom mycelium. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา:https://www.dezeen.com/2020/09/16/bob-hendrikx-living-cocoon-mycelium-coffin/ [16 มีนาคม 2565]

First funeral held using ‘living coffin’ made of mushroom fibre. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา:https://www.theguardian.com/society/2020/sep/15/first-funeral-living-coffin-made-mushroom- fibre-netherlands [16 มีนาคม 2565]

Living Cocoon by Bob Hendrikx. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.thisispaper.com/mag/living-cocoon-bob-hendrikx [16 มีนาคม 2565]

"Living coffin" the latest trend as more people want sustainable burial. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://nltimes.nl/2021/09/12/living-coffin-latest-trend-people-want-sustainable-burial [16 มีนาคม 2565]

Close the Loop. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.loop-of-life.com/ [16 มีนาคม 2565]