คณะวิศวะ มช.เจ๋ง สร้างเครื่องมือวัดและรายงานค่า PM2.5 แบบทันใจ หวังช่วย ตรวจสอบ ประเมิน คาดการณ์ และแจ้งเตือน ชาวไทยรับมือมลพิษฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างเรียลไทม์
จากปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มีอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน การรายงานค่าฝุ่นรายวันจากกรมควบคุมมลพิษคงไม่เพียงพอ เนื่องจากมนุษย์เราต้องหายใจรับมลพิษเหล่านี้เข้าไปแบบเรียลไทม์
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ หนึ่งในทีมพัฒนานวัตกรรมระบบแจ้งเตือนฝุ่น PM 2.5 ได้อธิบายว่า เครื่อง DustBoy ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยใช้ระบบเซนเซอร์การกระเจิงแสงในการตรวจจับค่าฝุ่นละออง โดยจะมีเลเซอร์ยิงไปที่อนุภาคฝุ่น และจะแสดงค่าที่หน้าจอ ว่าขณะนี้มีค่าฝุ่นละอองเท่าไหร่ ปัจจุบันมีความร่วมมือกับกรมอนามัย ในการเริ่มติดตั้งที่สถานพยาบาลในชุมชน และโรงเรียน เพื่อสื่อสารความเสี่ยงเรื่องฝุ่นให้กับประชาชนได้ง่ายขึ้น DustBoy เป็นเครื่องตรวจวัด PM 2.5 แบบเรียลไทม์ ที่พัฒนา ออกแบบ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ โดยคนไทย มีระบบการทำงานที่เชื่อมต่อกับ Cloud Server ที่พร้อมจะส่งข้อมูลสำคัญไปสู่แพลทฟอร์มต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ข้อมูลหรือ Data ถูกประมวลผล วิเคราะห์ และใช้งานได้แบบเกือบจะเรียลไทม์ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นฝีมือของคนไทย เพื่อคนไทย ที่มีคุณค่าอีกชิ้นหนึ่ง ผู้พัฒนายังบอกอีกว่าเจ้า DustBoy นี้ราคาไม่เกิน 5,000 บาท ขึ้นอยู่กับระบบของการเชื่อมต่อสัญญาณ และด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่มากนักจึงสามารถนำไปติดตั้งในยานพาหนะต่างๆได้อีกด้วย
DustBoy ถูกพัฒนามาแล้วหลายรุ่น โดยในอนาคตมีการวางแผนทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อทำระบบที่สามารถตรวจสอบได้ว่า การไหลของมวลฝุ่นในพื้นที่บริเวณต่างๆเป็นอย่างไร ฝุ่นจะถูกพัดไปที่ใด เพื่อแจ้งให้กับประชาชนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วขึ้น และยังมีแผนสร้าง DustGirl ซึ่งเป็นเครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 เช่นกันแต่เป็นเครื่องที่ใช้วัดในอาคารต่อไป
แหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.thaipbs.or.th/now/content/756
แหล่งที่มาของรูปภาพ : https://www.thaipbs.or.th/now/content/756
สุมัยญา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ