บริษัทนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ผู้พัฒนานวัตกรรมการปลูกถ่ายไมโครชิปในสมองของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้สามารถดำเนินการวิจัยทางคลินิกในการฝังชิปคอมพิวเตอร์ในสมองมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่หลังจากที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ในการขออนุมัติก่อนหน้านี้
วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 บริษัทนิวรัลลิงก์ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า “นี่เป็นผลมาจากการทำงานอันน่าทึ่งของบริษัทนิวรัลลิงก์ร่วมกับ FDA ที่นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญซึ่งวันหนึ่งจะทำให้เทคโนโลยีของเราสามารถช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากได้” ปัจจุบันนิวรัลลิงก์ยังไม่มีแผนการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมทดลองโครงการดังกล่าว แต่ได้ประกาศว่าจะแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้
ก่อนหน้านี้บริษัทฯ พยายามขออนุมัติการทดสอบในมนุษย์จาก FDA มาตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 แต่กลับถูกปฏิเสธเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เคยออกมาชี้ให้เห็นข้อกังวลหลายประการเกี่ยวกับการทดลองของนิวรัลลิงก์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะอนุมัติการทดลองในมนุษย์ เช่น ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการใช้แบตเตอรีลิเธียม (Lithium) ในอุปกรณ์ และความท้าทายในการดึงอุปกรณ์ออกมาอย่างปลอดภัยโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อสมอง
เทคโนโลยีเชื่อมโยงกับสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์นั้นมีความท้าทายทางด้านศีลธรรมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการทดสอบฝังชิปในสัตว์ที่ทางบริษัทนิวรัลลิงก์เคยถูกสอบสวนเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ละเมิดสวัสดิภาพของสัตว์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทนิวรัลลิงก์เร่งรัดการทดสอบจนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตสัตว์โดยไม่จำเป็น โดยบริษัทได้คร่าชีวิตสัตว์ทดลองไปกว่า 1500 ตัว ซึ่งรวมถึง หมู แกะ และลิงกว่า 280 ตัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561
หลายปีที่ผ่านมา มัสก์ได้เปิดเผยแผนการใหญ่สำหรับนิวรัลลิงก์ โดยเป็นข่าวใหญ่เมื่อปีที่แล้วว่า เขามั่นใจในความปลอดภัยของอุปกรณ์นิวรัลลิงก์มาก จนยินดีที่จะฝังชิปลงในสมองของบรรดาลูก ๆ ของเขา อีกทั้งยังได้คาดการณ์ว่า นิวรัลลิงก์จะเริ่มทดลองฝังชิปในสมองมนุษย์เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน ออทิสติก โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท ไปจนถึงการใช้ท่องเว็บและส่งกระแสจิตถึงผู้อื่น โดยมัสก์เล็งเห็นว่าทั้งผู้พิการ และคนที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถเข้ารับการผ่าตัดฝังเครื่องดังกล่าวลงในสมองได้ทันทีที่ศูนย์ให้บริการในท้องถิ่น
เรียบเรียงโดย : ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ที่มาข้อมูล :
The Guardian, Elon Musk’s brain implant company Neuralink approved for in-human study. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.theguardian.com/technology/2023/may/25/elon-musk-neuralink-brain-implant-fda-approval-human-study
[29 พฤษภาคม 2566]
REUTERS, Elon Musk's Neuralink wins FDA approval for human study of brain implants. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.reuters.com/science/elon-musks-neuralink-gets-us-fda-approval-human-clinical-study-brain-implants-2023-05-25/
[29 พฤษภาคม 2566]