วิกฤติแล้ว! ป่าแอมะซอนกำลังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าดูดซับ

วิกฤติแล้ว! ป่าแอมะซอนกำลังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าดูดซับ

30-04-2022
วิกฤติแล้ว! ป่าแอมะซอนกำลังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าดูดซับ

https://earth.org/amazon-rainforest-now-a-co2-source/

ผืนป่าแอมะซอน (Amazon rainforest) ป่าดิบชื้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ขนาด 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร กินพื้นที่ 8 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล, โบลิเวียร์, เปรู, เอกวาดอร์, โคลอมเบีย, เวเนซูเอลา, กายอานา, ซูรินาม และเฟรนช์เกียนา มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีบทบาทสำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน แต่ความจริงเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป

วารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Nature) ได้เปิดเผยการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล (Brazilian National Institute for Space Research) ซึ่งนำเครื่องบินจำนวน 590 ลำ บินที่ระดับความสูง 4,500 เมตรเหนือป่าแอมะซอน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ถึง 2018 เพื่อวัดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) พบว่าผืนป่าขนาดยักษ์นี้ กำลังสูญเสียความสามารถในการดูดซับก๊าซเหล่านี้ไป โดยเฉพาะป่าแอมะซอนฝั่งตะวันออก

ป่าแอมะซอนฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการทำลายป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีกลุ่มประชากรที่รุกล้ำป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำเกษตร และปศุสัตว์ ประกอบกับความชื้นที่ลดลงเนื่องจากไม่มีต้นไม้ช่วยกักเก็บน้ำ ทำให้อัตราการเกิดไฟป่าในฤดูแล้งสูง และรุนแรงมากขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าแอมะซอนฝั่งตะวันออกปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าที่ป่าดูดซับได้ถึง 3 เท่า

นี่คือสัญญาณเตือนภัยของโลกจากธรรมชาติ ที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรป่าอย่างไม่รู้จักพอ และการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ได้แซงหน้ากิจกรรมการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไปแล้ว สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ป่าแอมะซอนเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าทั่วโลกอีกด้วย ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องหันกลับมาทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง และเริ่มต้นการอนุรักษาพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง ก่อนที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมจะถึงจุดวิกฤติร้ายแรงที่ไม่อาจแก้ไขได้อีกต่อไป

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

แหล่งข้อมูล:
Amazon. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.worldwildlife.org/places/amazon [25 กรกฎาคม 2564]
Amazonia as a carbon source linked to deforestation and climate change. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.nature.com/articles/s41586-021-03629-6 [25 กรกฎาคม 2564]
Amazon Rainforest Is Now a Source of CO2 Instead Of Absorbing It. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://earth.org/amazon-rainforest-now-a-co2-source/ [25 กรกฎาคม 2564]
Amazon rainforest now emitting more CO2 than it absorbs. [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://www.theguardian.com/environment/2021/jul/14/amazon-rainforest-now-emitting-more-co2-than-it-absorbs [25 กรกฎาคม 2564]