ระวัง ต่อหัวเสือ แมลงร้ายต่อยคนถึงตายเกือบทุกปี

ระวัง ต่อหัวเสือ แมลงร้ายต่อยคนถึงตายเกือบทุกปี

29-04-2022
ระวัง ต่อหัวเสือ แมลงร้ายต่อยคนถึงตายเกือบทุกปี

ต่อหัวเสือบ้าน (Vespa affinis) กำลังสร้างรัง (ที่มาภาพ ทัศนัย จีนทอง)

จากพาดหัวข่าว : พิษต่อหัวเสือ! รุมต่อยพนักงานพิทักษ์ป่านครสวรรค์ซ้ำ 2 รอบจนสิ้นชีพ

เมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ได้มีข่าวการเสียชีวิตของเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า จังหวัดนครสวรรค์ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ตัดหญ้าบริเวณรอบหน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น โดยเพื่อนร่วมงานของผู้ตายได้เปิดเผยข้อมูลว่า ขณะที่ผู้ตายกำลังใช้เครื่องตัดหญ้าเพื่อกำจัดวัชพืชอยู่ใกล้ๆ สำนักงาน แต่จู่ ๆ ก็มีฝูงต่อหัวเสือจำนวนมาก บุกมาจู่โจมรุมต่อยผู้ตายอย่างบ้าคลั่ง จนเพื่อนที่เห็นเหตุการณ์ต้องรีบเข้าไปช่วยและพาวิ่งหนีเข้ามาหลบอยู่ภายในสำนักงาน ในระหว่างนั้นก็ได้สำรวจบาดแผลพบว่าผู้ตายถูกรุมต่อยหลายจุด ทั้งบริเวณศีรษะและลำตัว แต่ผู้ตายยังมีสติดี จึงได้พากันออกจากสำนักงานเพื่อพาผู้ตายไปรักษาตัวในเมือง แต่ปรากฏว่าในระหว่างที่กำลังถอยรถยนต์ออกมารับ จู่ ๆ ฝูงต่อกลุ่มเดิมก็บินกลับมารุมต่อยผู้ตายอีกเป็นรอบที่ 2 รวมถึงเข้าทำร้ายเพื่อนร่วมงานของผู้ตายอีก 2 รายด้วย จนเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ที่เห็นเหตุการณ์เห็นท่าไม่ดีจึงรีบพาผู้ตายหนีขึ้นรถขับพาออกจากสำนักงานทันที ซึ่งขณะนั้นผู้ตายยังรู้สึกตัวดีอยู่ แต่เมื่อพาไปส่งถึงที่บ้านเพื่อให้ครอบครัวพาตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลแม่วงก์ ปรากฏว่าผู้ตายได้หมดสติลงและได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งจากการตรวจสอบร่างกายพบว่าผู้ตายมีรอยถูกต่อต่อยไม่ต่ำกว่า 50 แผล

(อ้างอิง https://mgronline.com/local/detail/9640000038581 ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 23 เม.ย. 2564 11:45)

ตัวหัวเสือ แมลงร้ายฆ่าคน

ในช่วงเวลานี้ของทุกปี มักจะมีข่าวคนถูกต่อหัวเสือต่อยจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ล่าสุดได้เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จังหวัดนครสวรรค์ ตามที่เป็นข่าว ซึ่ง ต่อหัวเสือ จัดเป็นแมลงมีพิษ ถูกจัดอยู่สกุลต่อ (Genus Vespa Linnaeus, 1758) วงศ์ต่อแตน (family Vespidae) อันดับผึ้ง ต่อ แตน มด (Order Hymenoptera) จากข่าวที่ทำให้คนเสียชีวิตทำให้ต่อหัวเสือกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของมนุษย์ส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงนั้น ต่อหัวเสือเป็นแมลงที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ในธรรมชาติต่อหัวเสือมีบทบาทหลักเป็นผู้ล่าหรือตัวห้ำ (Predator) กินแมลงและสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร มีประโยชน์สำหรับช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ให้แพร่ระบาดจนเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศได้ ถึงแม้บางครั้งอาจส่งผลเสียกับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เนื่องจากต่อหัวเสือเป็นศัตรูของผึ้ง ทั่วโลกพบต่อหัวเสือทั้งสิ้น 23 ชนิด ส่วนใหญ่มีเขตแพร่กระจายในทวีปเอเชีย บางชนิดกระจายในยุโรปและอเมริกา สำหรับในประเทศไทยมีรายงานไว้ 15 ชนิด

Picture3

ต่อหัวเสือบ้านกำลังออกจากดักแด้

ต่อ และแตน ต่างกันอย่างไร

หากสังเกตดี ๆ เราสามารถแยกต่อกับแตนออกจากกันได้ไม่ยาก โดยต่อ (Hornet) จะมีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนปลายท้องเรียวแหลม มีความยาวตั้งแต่ 2.5 เซนติเมตร ขึ้นไป ส่วน แตน (Wasp) มีขนาดเล็กกว่าต่อ ลำตัวผอมเรียวกว่า ส่วนใหญ่มีความยาวน้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร นอกจากนี้ ต่อจะสร้างรังรูปทรงกลม และมีวัสดุห่อหุ้มรังอีก 1 ชั้น ในขณะที่แตนมีการสร้างรังได้หลายแบบทั้งคล้ายฝักบัว เป็นแผ่นยาว หรือเป็นเส้นยาว

ต่อหัวเสือ แมลงสังคม

ต่อหัวเสือเป็นแมลงสังคม รังหนึ่งๆ มีการแบ่งวรรณะตามหน้าที่การทำงาน ดังนี้ วรรณะต่อราชินี (Queen) มีเพียงตัวเดียวภายในรัง ราชินีมีความสำคัญมากต่อรัง ถ้าไม่มีราชินีรังนั้นจะล่มสลายลง ราชินีทำหน้าที่ควบคุมประชากรต่อหัวเสือในรังโดยการวางไข่เพื่อผลิตประชากรต่อหัวเสือ วรรณะกรรมกรหรือต่องาน (Workers) มีมากที่สุดในรัง จำนวนประชากรมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของต่อและอายุของรัง ต่องานทำหน้าที่หาอาหาร สร้างรัง ป้องกันรัง ดูแลราชินีและตัวอ่อน และต่อวรรณะสืบพันธุ์ (Reproductive caste) ประกอบด้วยเพศผู้ (Male) และเพศเมีย (Female) ทำหน้าที่สืบพันธุ์เพื่อสร้างอาณาจักรใหม่ ต่อเพศเมียจะกลายเป็นราชินีของรังใหม่ ส่วนต่อเพศผู้เมื่อผสมพันธุ์กับต่อเพศเมียแล้วสักพักก็จะตาย

Picture4

รังต่อหัวเสือบ้านอายุประมาณ 1 ปี (ที่มาภาพ ทัศนัย จีนทอง)

 

Picture6

โครงสร้างรังต่อหัวเสือบ้าน (ที่มาภาพ ทัศนัย จีนทอง)

Picture7

รังที่สร้างโดยนางพญาต่อหัวเสือ อายุประมาณ 1 สัปดาห์ (ที่มาภาพ ทัศนัย จีนทอง)

วงจรชีวิตต่อหัวเสือ

ต่อหัวเสือมีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ หรือการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (Holometabolous or complete metamorphosis) การเปลี่ยนแปลงรูปร่างในลักษณะนี้มีพัฒนาการเป็น 4 ระยะ คือ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย โดยนางพญาต่อจะวางไข่ไว้ในรังรูปหกเหลี่ยม ซึ่งไข่จะถูกยึดติดกับผนังด้านล่างของรังประมาณ 5 วัน จะกลายเป็นตัวหนอน ตัวหนอนที่ออกจากไข่แล้วก็ยังถูกยึดติดกับรังอยู่เช่นเดิม โดยจะได้รับการดูแลจากต่อกรรมกร จนเข้าสู่ระยะดักแด้ (ประมาณ 2 สัปดาห์) ตัวหนอนเมื่อเข้าดักแด้จะสร้างเยื่อคล้ายกระดาษมาปิดที่ปากรังหกเหลี่ยม ค่อย ๆ เปลี่ยนรูปร่างอยู่ภายในจนกลายเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะกลายเป็นต่อตัวเต็มวัย โดยส่วนใหญ่ต่อหัวเสือ 1 รังจะมีอายุประมาณ 1 ปี นี่เป็นเรื่องราววงจรชีวิตของต่อหัวเสือ แต่สิ่งที่ทำให้ต่อหัวเสือเป็นแมลงอันตรายก็คือ เหล็กในและพิษที่ถูกผลิตจากต่อมพิษภายในส่วนท้องของต่อหัวเสือนั่นเอง

เหล็กใน และต่อมพิษ อาวุธร้ายของต่อหัวเสือ

เหล็กในเป็นอาวุธป้องกันตัวที่พบได้เฉพาะในแมลงกลุ่มผึ้ง ต่อ แตน และ มด โดยเหล็กในถูกปรับเปลี่ยนมาจากอวัยวะวางไข่ของเพศเมีย นั่นแปลว่า ต่อหัวเสือเพศเมียเท่านั่นที่จะมีเหล็กใน เหล็กในมีลักษณะคล้ายเข็ม บริเวณปลายมีรอยหยักเล็ก ๆ คล้ายหัวฉมวกหลายรอย (รอยหยักของเหล็กในต่อหัวเสือจะมีขนาดเล็กกว่าเหล็กในของผึ้ง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต่อหัวเสือสามารถต่อยได้หลายครั้งเหล็กในก็ไม่หลุดติดกับเนื้อเยื่อของเหยื่อแต่ผึ้งต่อได้ครั้งเดียวเหล็กในจะหลุดออกมาจากตัวผึ้งจึงทำให้ผึ้งตาย) เมื่อดูโครงสร้างโดยละเอียดพบว่าเข็มนั้นประกอบด้วยแผ่นแข็งที่มีรอยหยัก 2 แผ่น ห่อตัวโอบล้อมท่อพิษไว้ เมื่อต่อหัวเสือต่อยเหยื่อ เหล็กในจะทำหน้าที่คลายเข็มฉีดยา โดยแผ่นแข็งทั้งสองทำงานประสานกันเพื่อทิ่มแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อ แล้วฉีดน้ำพิษที่ถูกผลิตจากต่อมพิษอยู่ที่บริเวณส่วนท้องผ่านท่อน้ำพิษเข้าไปในรอยแทงนั้น น้ำพิษที่เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ จะเข้าสู่เนื้อเยื่อและสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดของเหยื่อได้อีกด้วย

Picture8

เหล็กในต่อหัวเสือ (ที่มาภาพ วียะวัฒน์ ใจตรง)

Picture9

เหล็กในและต่อมพิษของต่อหัวเสือ (ที่มาภาพ วียะวัฒน์ ใจตรง)

รีบสังเกตอาการเมื่อถูกพิษต่อหัวเสือ

อาการของคนที่ถูกพิษต่อหัวเสือจะแสดงออกแตกต่างกันในแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ภูมิต้านทางพิษในร่างกายของแต่ละคนซึ่งมีไม่เท่ากันรวมถึงช่วงวัยของคนด้วย ชนิดของพิษของต่อหัวเสือแต่ละชนิดจะมีความรุนแรงไม่เท่ากัน ปริมาณพิษที่ได้รับถ้าได้รับพิษปริมาณมากก็จะส่งผลต่ออาการมากขึ้นด้วย โดยถ้าแพ้ไม่รุนแรงจะมีอาการ เจ็บ ปวด บวมที่แผลเล็กน้อย เป็นอาการเฉพาะที่ และถ้าเป็นหนักขึ้นจะเริ่มมีอาการปวดแผลมาก อาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม เหงื่อออก ลมพิษขึ้นทั้งตัว อาจมีไข้บ้าง และถ้าแพ้มากจะมีอาการหายใจลำบาก ตัวเขียวคล้ำ ความดันโลหิตต่ำ ช็อกหมดสติ และเสียชีวิต ดังนั้นเมื่อถูกต่อต่อยให้สังเกตอาการตัวเองทันที ถ้าเริ่มมีอาการหายใจลำบาก หายใจไม่ออก ปวดแผลมากขึ้น และสังเกตอาการจากตำแหน่งที่โดนต่อย ถ้าโดยต่อยที่บางตำแหน่งของร่างกาย เช่นที่ ขา แต่เกิดการบวมที่บริเวณอื่นหรือทั่วร่างกายแสดงว่าน่าจะแพ้พิษมาก ให้รีบส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาลทันที

วิธีการป้องกันต่อหัวเสือเบื้องต้น

ถึงแม้ต่อหัวเสือจะเป็นแมลงอันตราย แต่มนุษย์ก็ไม่ควรมีความคิดที่จะกำจัดพวกมันจนสูญพันธุ์ เพราะธรรมชาติได้มอบบทบาทที่สำคัญแก่พวกมันเพื่อให้ช่วยเหลือระบบนิเวศและมนุษย์ไว้อย่างลงตัวแล้ว ดังนั้น เพียงแค่เรารู้จักเรียนรู้และหาวิธีอยู่กับพวกมัน เท่านี้เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกับแมลงอันตรายเหล่นี้ได้ไม่ยาก เบื้องต้นเราควรศึกษาและทำความเข้าใจวิถีชีวิตของพวกมันให้เข้าใจก่อน ข้อมูลที่น่าสนใจและสามารถช่วยให้หาวิธีจัดการกับพวกมันได้ ได้แก่

1. ต่อหัวเสือเป็นแมลงที่เกือบทุกชนิดออกหากินเฉพาะช่วงเวลากลางวันเท่านั้น ส่วนกลางคืนพวกมันจะกลับเข้าไปนอนพักอยู่ในรัง แสดงว่าพวกมันจะสามารถมองเห็นได้ดีเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน กลางคืนจะมองเห็นได้ไม่ดีนัก ดังนั้นการจะจัดการต่อหัวเสือควรจะทำเฉพาะช่วงเวลากลางคืน และห้ามใช้แสงสว่างเด็ดขาดเพราะพวกมันจะบินเข้าหาแสงสว่าง

2. อาหารของต่อหัวเสือส่วนใหญ่จะเป็นแมลงตัวเต็มวัยและตัวหนอน รวมถึงสัตว์ขนาดเล็กรวถึงซากสัตว์ที่เพิ่งตาย เช่น หนู กบ เขียด เป็นต้น ส่วนต่อหัวเสือที่พบตามแหล่งชุมชนจะสามารถกินเนื้อปลา เนื้อหมู ที่ชาวบ้านเอามาตากแดดไว้ด้วย โดยส่วนใหญ่ต่อกรรมกรจะบินแยกย้ายกันออกหาอาหารเพื่อเอากลับไปเลี้ยงตัวอ่อนในบริเวณใกล้ ๆ รัง แต่ถ้าบริเวณรอบ ๆ รังไม่ค่อยมีอาหารพวกมันก็สามารถบินได้ไกล 2-3 กิโลเมตรเพื่อหาอาหารและบินกลับมาที่รังได้ ต่อกรรมกรเมื่อพบอาหารมักจะไม่สนใจสิ่งรอบข้างนัก จะรีบใช้ปากตัดอาหารให้เป็นชิ้นขนาดเล็กและคาบกลับไปที่รังจนกว่าอาหารจะหมด ต่อกรรมกรในขณะจัดการกับอาหารจะไม่ค่อยสนใจทำอันตรายมนุษย์นัก เราสามารถเข้าใกล้พวกมันได้

3. สิ่งที่อันตรายมากที่สุดสำหรับต่อหัวเสือ คือ การเข้าใกล้รังต่อหัวเสือในเวลากลางวัน โดยเฉพาะรังที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งรังต่อหัวเสือมีขนาดใหญ่มากเท่าใดก็จะยิ่งมีจำนวนต่อหัวเสือในรังมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการป้องกันตัวที่ดีที่สุดก็คืออย่าเข้าใกล้บริเวณที่ต่อหัวเสือทำรังอยู่ในเวลากลางวัน เราควรหมั่นสังเกตรอบ ๆ บริเวณบ้านตัวเองว่ามีต่อหัวเสือเข้ามาแอบทำรังไว้หรือไม่โดย พยายามมองหาตัวต่อหัวเสือและรังของมัน โดยต่อหัวเสือสามารถสร้างรังได้ทั้งในป่าธรรมชาติและบริเวณบ้านคนใกล้แหล่งชุมชน โดยมักจะเลือกสร้างรังในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่มีสิ่งรบกวน และอยู่ใกล้แหล่งอาหาร

4. รังต่อหัวเสือจะเริ่มต้นจากต่อราชินีที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วมาเริ่มสร้างรังเริ่มต้นโดยต่อราชินีจะสร้างรังแผ่นกลมที่ด้านในเป็นรูปหกเหลี่ยมขนาดเล็กขึ้น 1 แผ่น และจะสร้างเปลือกหุ้มรังเป็นรูปคนโท หรือแจกันคว่ำ ในระยะนี้ในรังจะยังไม่มีต่อตัวเต็มวัยอื่น ๆ ยกเว้นต่อราชินี ดังนั้นถ้าพบรังลักษณะนี้ให้รีบจัดการทำลายรังและไล่ต่อราชินีไปทันที แต่ถ้าพบรังทีมีขนาดใหญ่ขึ้นและเห็นว่ามีต่อกรรมกรแล้วให้รีบแจ้งหน่วยงานกู้ภัยหรือหน่วยงานสาธารณะภัยในชุมชนที่สามารถช่วยจัดการต่อหัวเสือได้ เช่น อบต. เทศบาล เป็นต้น ให้มาช่วยจัดการ ไม่ควรจัดการเองถ้าไม่มีประสบการณ์

5. ควรหมั่นตรวจตราและทำความสะอาดบริเวณบ้านและรอบ ๆ บ้านอยู่เสมอ อย่างปล่อยให้บ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้านรก ต้นไม้ควรตัดแต่งกิ่งให้เรียบร้อย สนามหญ้าก็ควรตัดให้เรียบร้อย เพื่อให้สามารถมองเห็นการได้ง่าย และจัดการกับขยะที่เป็นเศษอาหารให้ดี ถังขยะสดควรหาฝาปิดให้มิดชิด อย่าทิ้งเรี่ยราด เพราะจะดึงดูดให้ต่อหัวเสือเข้ามากินอาหารได้

6. หากต้องทำงานในพื้นที่ธรรมชาติ ให้พยายามสังเกตบริเวณรอบ ๆ อย่างละเอียดรอบคอบ ถ้าพบตัวต่อหรือรังต่อก็ให้หลีกเลี่ยงเสียอย่าเข้าใกล้ ควรศึกษารูปร่างหน้าตาของต่อหัวเสือ และสัตว์มีพิษชนิดอื่น ๆ ให้ดี เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงจากอันตราย โดยที่เราจะได้ไม่ต้องระแวงสัตว์ทุกชนิด

5. ต่อหัวเสือชนิดที่พบเป็นประจำ พบได้ทั้งในป่าและในเมืองทั่วทุกภาคของประเทศไทย และเป็นต่อหัวเสือที่มักเป็นข่าวทำคนเสียชีวิต คือ ต่อหัวเสือบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Vespa affinis (Linnaeus, 1764) มีลักษณะเด่น ลำตัวสีดำ ส่วนท้องปล้องที่ 1 และ 2 จะมีแถบสีเหลืองส้มคาดรอบทั้ง 2 ปล้อง ลำตัวยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยต่อหัวเสือบ้านจะสร้างรังไว้ในที่สูง ตามต้นไม้และหลังคาบ้าน หรือบริเวณดาดฟ้าของตึกสูง ซึ่งจะแตกต่างจากรังของต่อหัวเสืออีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายกันมากนั้น คือ ต่อหลุม ชื่อวิทยาศาสตร์ Vespa tropica (Linnaeus, 1758) ที่มีลำตัวสีดำคล้ายต่อหัวเสือบ้านแต่ปล้องท้องสีเหลืองส้มจะมีแค่ปล้องที่ 1 เพียงปล้องเดียว โดยรังของต่อหลุมจะถูกสร้างอยู่ใต้ดินหรือในโพรงไม้ที่อยู่ติดดิน

เราควรศึกษาและทำความรู้จัก ทั้งหน้าตา วงจรชีวิต รวมถึงพฤติกรรมของต่อหัวเสือให้ถ่องแท้เสียก่อน ถ้าทำเช่นนี้ได้นอกจากเราจะสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดกับตัวเองแล้ว เราอาจจะสามารถใช้สัตว์เล่านี้ทำให้เกิดประโยชน์ได้ในอนาคต

 

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)

ผู้จัดการออนไลน์. พิษต่อหัวเสือ! รุมต่อยพนักงานพิทักษ์ป่านครสวรรค์ซ้ำ 2 รอบจนสิ้นชีพ [ออนไลน์]. 2564. แหล่งที่มา https://mgronline.com/local/detail/9640000038581  [9 พ.ค. 2564]

 

ค้นคว้าเพิ่มเติม

รวีรัตน์ สิชฌรังษี. 2014. การแพ้จากแมลงต่อย. Journal of Medicine and Health Sciences. Vol.21 No.2. 32-39 น.

Archer, M.A. 2012. Vespine Wasps of the World: Behaviour, Ecology & Taxonomy of the Vespinae. Siri Scientific Press.

Carpenter, J.M. and J. Kojima. 1997. Checklist of the species in the subfamily Vespinae (Insecta: Hymenoptera: Vespidae). Nat. Hist. Bull. Ibaraki Univ. 1: 51-92.

Nakamura, M. and S. Sonthichai. 2004. Nesting habits of some hornet species (Hymenoptera, Vespidae) in northern Thailand. Kasetsart J. (Nat. Sci.) 38: 196-206.

 

คำค้น (Tags) ต่อหัวเสือ เหล็กใน พิษ อันตราย