มอสชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบจากแอนตาร์กติกา ปี 2017 โดยนักวิจัยอินเดีย
ที่มาของภาพ https://www.bbc.com/news/world-asia-india-57732014
การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การค้นพบพืชและสัตว์ชนิดใหม่ของโลกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายต่อหลายครั้งเป็นการค้นพบจากเขตสภาพแวดล้อมสุดขั้วที่สิ่งมีชีวิตน้อยชนิดสามารถเติบโตได้ การเดินทางเข้าถึงก็สุดแสนจะยากลำบาก อย่างทวีปแอนตาร์กติกา
นักชีววิทยาชาวอินเดียค้นพบมอสชนิดใหม่ของโลกโดยบังเอิญจากการเดินทางสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาในปี 2017 นอกจากการเดินทางไปเก็บตัวอย่างจะทำได้ยากลำบากแล้ว การจำแนกชนิดของมอสชนิดใหม่ครั้งนี้ก็ยากไม่แพ้กันและต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ก่อนที่จะถูกรับรองและตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Asia-Pacific Biodiversity โดยคณะนักวิจัยซึ่งมาจาก Central University of Punjab ตั้งชื่อมอสชนิดนี้ว่า Bryum bharatiensis ตามชื่อ “Bharati” ซึ่งเป็นเทพแห่งการเรียนรู้และเป็นชื่อของ 1 ในสถานีวิจัยของอินเดียในแอนตาร์กติกา
ศาสตราจารย์เฟลิกซ์ บาสต์ นักชีววิทยาชาวอินเดียผู้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางสำรวจอันยาวนานถึง 6 เดือนเป็นผู้ค้นพบพืชสีเขียวเข้มนี้ ณ Larsemann Hills บริเวณ Southern Ocean ช่วงเดือนมกราคมปี 2017 ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีวิจัย Bharati ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า เนื่องจากพื้นที่แอนตาร์กติกาประกอบด้วยน้ำแข็งเกือบทั้งหมด มีเพียง 1% เท่านั้นที่เป็นพื้นที่ปราศจากน้ำแข็ง พืชที่ต้องการทั้งธาตุอาหารที่จำเป็นอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตสเซียม รวมทั้งแสงแดด เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมสุดขั้วดังกล่าวได้อย่างไร
คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามอสชนิดนี้เจริญเติบโตในเขตที่เพนกวินอยู่อาศัย และยังพบบนอึของเพนกวินที่อุดมไปด้วยไนโตรเจนอีกด้วย คำถามเรื่องมอสได้รับสารอาหารอย่างไนโตรเจนจากที่ไหนจึงได้รับการไขข้อสงสัย
คำถามต่อไปคือ แล้วแสงแดดล่ะ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ายังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดว่าพืชสามารถเจริญบนแผ่นน้ำแข็งหนาตลอดฤดูหนาวอันยาวนาน 6 เดือนที่อุณหภูมิติดลบถึง -76 องศาเซลเซียสและไม่มีแสงแดดเลยได้อย่างไร แต่ก็ได้ให้สมมติฐานไว้ว่ามอสจะหยุดการเจริญเติบโตและเข้าสู่ระยะพักตัวในช่วงฤดูหนาวโดยมอสจะแห้งจนมีสภาพคล้ายเมล็ด และจะกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้งในฤดูร้อนช่วงเดือนกันยายนซึ่งมีแสงสว่างและน้ำจากหิมะละลาย
คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียใช้เวลาถึง 5 ปีในการถอดรหัส DNA ของมอสเปรียบเทียบกับพืชนิดอื่น และข้อมูล DNA บ่งชี้ว่าดินแดนที่ห่างไกลและเหน็บหนาวอย่างแอนตาร์กติกามีมอสกว่า 100 ชนิด
การค้นพบดังกล่าวถือได้ว่าเป็น “สัญญาณอันตราย” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกากาศ (Climate change) เนื่องจากในช่วงการสำรวจ นอกจากคณะนักวิทยาศาสตร์จะพบแผ่นน้ำแข็งละลายเป็นจำนวนมากแล้ว ยังค้นพบพื้นที่สีเขียวในแอนตาร์กติกามากขึ้น ซึ่งพื้นที่สีเขียวดังกล่าวเกิดจากพืชเขตอบอุ่นหลายชนิดที่ไม่น่าจะเจริญในดินแดนนี้ได้
“การค้นพบว่าแอนตาร์กติกาเขียวขจีขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ภายใต้แผ่นน้ำแข็งหนาๆ พวกเรายังไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่บ้าง อาจจะเป็นจุลินทรีย์ก่อโรคที่พร้อมจะหลุดออกมาเมื่อน้ำแข็งละลายได้เสมอ” ศาสตราจารย์ วากาเวนดรา ปราสาด ทิวารี หัวหน้าทีมนักชีววิทยาจาก Central University of Punjab กล่าวทิ้งท้าย
การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยจากอินเดียค้นพบพืชชนิดใหม่จากแอนตาร์กติกานับตั้งแต่สถานีวิจัยของอินเดียถูกก่อสร้างขึ้นในแอนตาร์กติกาเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา
สถานีวิจัย Bharati ในแอนตาร์กติกา
ที่มาของภาพ https://www.bbc.com/news/world-asia-india-57732014
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-57732014
คำค้น (Tags) แอนตาร์กติกา มอส Bharati อินเดีย
ผู้เขียน สุทธิกาญจน์ สุทธิ