การฟื้นฟูแนวปะการังที่ตายจากการฟอกขาว

การฟื้นฟูแนวปะการังที่ตายจากการฟอกขาว

29-04-2022
การฟื้นฟูแนวปะการังที่ตายจากการฟอกขาว

ปะการังที่มีชีวิตสำคัญอย่างยิ่งกับ polyps [โพลิปส์] หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำนวนมากที่อยู่อาศัยในปะการัง สาหร่ายที่อาศัยในเนื้อเยื้อของโพลิปมีส่วนสำคัญในการสร้างสีสันสดใสให้กับปะการัง

เพราะเมื่อสาหร่ายรับแสงอาทิตย์แล้ว จะสร้างน้ำตาลให้กับตัวเองและกับโพลิปปะการังด้วย เมื่อเกิดการปรับตัวจากน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ปะการังขับไล่สาหร่ายที่อาศัยอยู่ในชั้นผิวของตนเองส่งผล

ให้ปะการังกลายเป็นสีขาว ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ปะการังฟอกขาว

เมื่อ ค.ศ. 2005 ปะการังกว่าครึ่งในแถบทะเลแคริเบียนต้องตายไป จากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว สาเหตุสำคัญมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลในแถบนั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้านั้น

แต่อุณหภูมิที่เย็นลงเป็นปัจจัยให้เกิดปะการังฟอกขาวด้วยเช่นกัน ใน 5 ปีต่อมา (ค.ศ.2010) อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เย็นลงในแถบฟลอริดาคีย์ส (Florida Keys) ทำให้เกิดสภาวะฟอกขาวและส่งผลให้

ปะการังจำนวนหนึ่งต้องตายไป

แต่ก็ใช่ว่าปะการังจะเสียชีวิตโดยฉับพลัน พวกมันคงอยู่รอดในภาวะกดดัน ไม่เพียงเท่านั้น ปลาจำนวนมากที่อาศัยปะการัง ต้องมองหาที่พักพิงที่อุดมแหล่งใหม่ ฉะนั้นแนวปะการังที่ไร้กิจกรรมของฝูงปลาก็ยิ่ง

“อับเฉา” จนนำไปสู่ความตายในที่สุด

ทิม กอร์ดอน นักชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซ์เตอร์ สหราชอาณาจักร และทีมงาน ศึกษาถึงอิทธิพลของเสียงในกลุ่มสัตว์ทะเลตลอดแนวปะการังของออสเตรเลีย ทีมงานค้นพบสรรพสำเนียงในปะการังที่มีสุขภาพดี

ฉะนั้น เมื่อไร้ซึ่งเสียงของกิจกรรมฝูงปลาแล้ว ปะการังเหล่านั้นสุ่มเสี่ยงต่อความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามสำคัญ “หากเราดึงดูดให้ปลากลับมายังปะการังเหล่านั้น จะทำให้ปะการังที่กำลังตายฟื้นคืนชีวิตได้หรือไม่?”

กอร์ดอนเก็บปะการังที่ตายจากการฟอกขาว และทำการทดลองด้วยการก่อแนวปะการังขนาดย่อมในเขตเกรท แบริเออร์ ริฟ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ฟังเสียงปะการังที่มีชีวิต ซึ่งมีหมู่ปลา กุ้ง และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

อาศัยโดยรอบ อีกกลุ่มหนึ่งให้ฟังเสียงที่แตกต่างไป และกลุ่มสุดท้ายมีเพียงวัสดุที่คล้ายลำโพงแต่ไร้เสียง พบว่าเมื่อครบ 40 วัน มีปลาหลายชนิดตั้งแต่ประเภทกินพืชเป็นอาหาร กินแพลงตอน และประเภทนักล่า

เข้ามายังแนวปะการังทดลองในสองกลุ่มแรกไม่แตกต่างกัน

สุดท้าย กอร์ดอนชี้ให้เห็นว่า การฟื้นฟูปะการังไม่ใช่ “คทาวิเศษ” ที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หากเป็นความพยายามของเราทุกคนในการลดปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นั่นถึงจะเป็นการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนกว่า.

shutterstock 208937023

[คำอธิบายภาพ: ปะการังที่เริ่มฟอกขาวในอินโดนีเซียตะวันออก เกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น]

shutterstock 332903360

[คำอธิบายภาพ: โพลิปส์ปะการังที่เริ่มฟอกขาวในช่องแคบเลมเบห์ อินโดนีเซีย ความเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมส่งผลให้สาหร่ายที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญแยกตัวออกจากปะการัง]

ผู้เขียน

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

ที่มาของแหล่งข้อมูล

NOAA, “What is coral bleaching?”, available from https://oceanservice.noaa.gov/facts/coral_bleach.html, accessed on May 6, 2020.

Stevens, Alison Pearce. “Healthy coral reef sounds attract fish searching for a home”, available from https://www.sciencenewsforstudents.org/article/healthy-coral-reef-sounds-attract-fish-searching-for-a-home, accessed on May 6, 2020.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน