วารสารทางการแพทย์ The Lancet ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ได้จากการเก็บตัวอย่างจาก 195 ประเทศ ในระหว่างปี 2542-2560 โดยเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าหนึ่งในห้าของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก หรือเท่ากับ 11 ล้านคน มาจากการบริโภคอาหารไม่ถูกลักษณะ
งานวิจัยนี้ศึกษาการได้รับโภชนาการจากอาหาร 15 ชนิด ซึ่งประกอบไปด้วยอาหารที่เป็นประโยชน์ และให้โทษต่อร่างกาย ได้แก่ ผลไม้ ผัก ถั่วฝัก (เช่น ถั่วลันเตา) ธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อย (โฮลวีต) ถั่วเปลือกแข็งเมล็ดเดียว (มะม่วงหิมพานต์) เมล็ดพืช (งา ถั่วเขียว) นม เส้นใย (ไฟเบอร์) แคลเซียม กรดไขมันโอเมกา-3 กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่หลายอัน (polyunsaturated fat) เนื้อแดง เนื้อแปรรูป เครื่องดื่มปรุงหวานด้วยน้ำตาล กรดไขมันทรานส์ และโซเดียม
งานวิจัยสรุปปี 2560 มีประชากรโลกเสียชีวิตถึง 11 ล้านคน จากโรคเรื้อรังแบบไม่สามารถติดต่อได้ เชื่อมโยงกับการบริโภคไม่ถูกลักษณะ โดยเฉพาะการรับประทานโซเดียมในปริมาณมาก การปริโภคธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อย และการรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ โดยมีผู้เสียชีวิต 10 ล้านคนด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและเส้นเลือด ผู้เสียชีวิต 930,000 คน ด้วยโรคมะเร็ง และ 339,000 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่2 ก่อนเสียชีวิต โดยประเทศที่มีอัตราการตายเกี่ยวกับโภชนาการไม่ถูกลักษณะอันดับหนึ่ง คือ ประเทศอุซเบกิสถาน
จากการสำรวจพบว่าไม่มีประเทศใดในโลกที่มีการบริโภคอาหารทั้ง 15 ชนิดอย่างเหมาะสม โภชนาการจากอาหารที่ประชากรโลกบริโภคน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อวันคือ ถั่วเปลือกแข็งเมล็ดเดียว และเมล็ดพืช (บริโภคเพียงร้อยละ 12 ของปริมาณแนะนำ 21 กรัมต่อวัน) นม (บริโภคเพียงร้อยละ 16 ของปริมาณที่แนะนำ 435 กรัมต่อวัน) และธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย (บริโภคเพียงร้อยละ 23 ของปริมาณที่แนะนำ 125 กรัมต่อวัน) นอกจากนี้ยังพบว่าโดยเฉลี่ยทั่วโลกมีการบริโภคเครื่องดื่มปรุงหวานโดยน้ำตาลมากกว่าที่แนะนำถึง 10 เท่า (ปริมาณที่แนะนำ 3 กรัมต่อวัน) เนื้อแปรรูป (ปริมาณที่แนะนำ 2 กรัมต่อวัน) และมีการตรวจพบโซเดียมในน้ำปัสสาวะมากกว่าที่แนะนำเกือบ 2 เท่า (ปริมาณที่เหมาะสม 3 กรัมต่อวัน) สำหรับประเทศไทย การบริโภคโซเดียมปริมาณสูง เป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการบริโภคไม่ถูกลักษณะ อันดับสองคือการบริโภคธัญพืชที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อยในปริมาณต่ำ และอันดับสามคือการบริโภคผักในปริมาณต่ำ
แนวโน้มทั่วโลกชี้ให้เห็นว่าแม้มีการรณรงค์ระดับชาติ และนานาชาติ แต่ปัญหาด้านการขาดโภชนาการที่ดียังคงมีอยู่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การเปลี่ยนทิศทางการบริโภคให้ถูกลักษณะเป็นเรื่องที่ท้าทาย ประกอบกับสาเหตุทางด้านสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศนั้น ทำให้ความสมบูรณ์ของโภชนาการแต่ละประเทศแตกต่างกัน รวมทั้งพบว่าประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่ำเข้าถึงโภชนาการที่ถูกลักษณะได้ยากกว่าประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูง
Link ที่เกี่ยวข้อง : The Lancet. "Globally, one in five deaths are associated with poor diet." ScienceDaily. ScienceDaily, 3 April 2019. www.sciencedaily.com/releases/2019/04/190403193702.htm
ผู้เรียบเรียง : นุชจริม เย็นทรวง