ซากที่พบในเยอรมนี เผยให้รู้ว่ามนุษย์เดินสองขาได้อย่างไร
การเดินสองขา ลำตัวตั้งตรง คือลักษณะเฉพาะของมนุษย์ในการเคลื่อนที่ และทำให้การเดินของมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น สมมติฐานมากมายถูกนำมาใช้อธิบายต้นกำเนิดของการเดิน 2 ขาของพวกโฮมินิดหรือวงศ์ลิงใหญ่ นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่าการเดิน 2 ขาของโฮมินิดนั้นมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษที่เดินด้วย 4 ขาคล้ายกับลิงในปัจจุบัน หรืออาจจะมาจากบรรพบุรุษที่มีการห้อยโหนและปีนป่ายตามต้นไม้เหมือนกับลิงชิมแพนซีในปัจจุบัน แต่ขาดหลักฐานจากฟอสซิลมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว
ล่าสุดทีมสำรวจขุดค้นจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี รายงานการค้นพบฟอสซิลของเอปสกุลและชนิดใหม่ที่มีชื่อว่าDanuvius guggenmosi(ชื่อสกุลDanuviusมาจากชื่อแม่น้ำดานูบ ชื่อชนิดguggenmosiตั้งเป็นเกียรติให้กับ Sigulf Guggenmos) ฟอสซิลถูกขุดพบในชั้นดินเหนียวอายุราว 11.6 ล้านปี บริเวณตอนใต้ของเยอรมนี
ชิ้นส่วนของดานุวิอัส ที่ค้นพบสันนิษฐานได้ว่าว่า เอปชนิดนี้มีความสูงประมาณ 1 เมตร น้ำหนักตัวประมาณ 20-30 กิโลกรัม (ขนาดเล็กกว่าและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าลิงใหญ่ปัจจุบัน) แต่มีลักษณะของทรวงอกที่กว้าง กระดูกสันหลังบริเวณเอวยาว สะโพกและหัวเข่าที่ค่อนข้างกว้าง มีฝ่าเท่าที่แบน คล้ายสัตว์ที่เดิน 2 ขาในปัจจุบัน แต่มีลักษณะแขนที่ยืดยาวเหมือนกับพวกเอปทั่วไป ซึ่งทำให้ ดานุวิอัสสามารถการเดินด้วยสองขาและการปีนป่ายบนต้นไม้
การค้นพบนี้เผยให้เห็นแบบแผนหรือลักษณะการเคลื่อนไหวของบรรพบุรุษร่วมของลิงใหญ่และมนุษย์เป็นครั้งแรก
ผู้เขียน: สุชาดา คำหา
แหล่งข่าว
Madelaine Böhme et al. A new Miocene ape and locomotion in the ancestor of great apes and humans. Nature (2019). DOI: 10.1038/s41586-019-1731-0
ภาพประกอบ/ที่มา :
ฟอสซิลตัวอย่างกระดูกต้นแบบเพศผู้GPIT/MA/10000 b–d, b.ฟอสซิลตัวอย่างกระดูกเทียบเคียงเพศหญิง GPIT/MA/10003, c. GPIT/MA/10001 และ d. ฟอสซิลกระดูกวัยเด็ก ไม่ทราบเพศ GPIT/MA/10002
ขอบคุณที่มาภาพ : Madelaine Böhme et al. A new Miocene ape and locomotion in the ancestor of great apes and humans. Nature (2019). DOI: 10.1038/s41586-019-1731-0
Link: เนื้อหาเพิ่มเติม: https://www.nature.com/articles/s41586-019-1731-0#auth-4