เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2563 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSF) ได้เผยภาพถ่ายพื้นผิวดวงอาทิตย์ความละเอียดสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จากกล้องโทรทรรศน์สุริยะแดเนียล เค. อิโนะอุเอะ (The Daniel K. Inouye Solar Telescope, DKIST) ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภาพขยายบริเวณผิวหน้าของดวงอาทิตย์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นกระแสความร้อนและฟองพลาสมาที่ไหลวนอยู่
“ฟองพลาสมาเดือด” ที่เราเห็นนั้น บางคนมองดูคล้ายกับกลุ่มเซลล์ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตหรือคล้ายกับผิวของข้าวโพดคั่ว โดยโครงสร้างที่ดูคล้ายเซลล์ดังกล่าวนี้ แต่ละส่วนมีขนาดใหญ่เท่ากับประเทศฝรั่งเศสหรือรัฐเท็กซัสของประเทศสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว กล่าวคือ พลังงานความร้อนที่ผลิตอยู่ด้านในดาวจะส่งผ่านออกสู่พื้นผิวชั้นนอก เกิดเป็นจุดสว่างที่มีอุณหภูมิสูงถึง 6,000 องศาเซลเซียส จากนั้นจะเย็นตัวลงและไหลลงสู่ชั้นที่ต่ำกว่า เห็นเป็นเส้นสีดำ กระบวนการดังกล่าวทำให้พื้นผิวดวงอาทิตย์แบ่งเป็นเซลล์อย่างชัดเจน แต่ละเซลล์มีขนาดประมาณ 30 กิโลเมตร ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งดาว เรียกว่า “แกรนูล” (Granule)
กล้องโทรทรรศน์สุริยะ DKIST เป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาด 4 เมตร ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟฮาเลอาคาลา (Haleakala) บนเกาะเมาอิ หมู่เกาะฮาวาย สูงจากระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้สำหรับศึกษาดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก
ภาพจาก :
https://www.bbc.com/thai/features-51311271
ที่มา :
เผยภาพขยายผิวหน้าดวงอาทิตย์แบบละเอียดที่สุดเท่าที่เคยมีมา. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://www.bbc.com/thai/features-51311271 [ 7 กุมภาพันธ์ 2563]
ธนกร อังค์วัฒนะ. ภาพแรกในประวัติศาสตร์! “ดวงอาทิตย์” แบบซูมใกล้สุดๆ. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://siamrath.co.th/n/130149 [ 7 กุมภาพันธ์ 2563]
คำค้น : ดวงอาทิตย์, กล้องโทรทรรศน์สุริยะ
ผู้เขียน : นางสาวศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง