หรือเวลาส่องแสงของดาวยักษ์ใหญ่สีแดงดวงนี้ใกล้หมดลงเต็มที
“บีเทลจุส (Betelgeuse)” หนึ่งในดาวฤกษ์ที่ปรากฏสว่างมากบนท้องฟ้า จู่ๆมันก็ดูหรี่แสงลงในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา นั่นทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า ดาวดวงนี้มันใกล้ระเบิดแล้ว แต่เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บีเทลจุส เริ่มกลับมาสว่างขึ้นอีกครั้ง ทำให้ความคิดที่ว่ามันจะระเบิดนั้นอาจจะต้องถูกพับเก็บไว้ก่อน โดยหันมาสนใจกับการศึกษาที่ว่าการหรี่แสงของดาวดวงนี้ เกิดจากการพอกพูนของฝุ่นจากตัวดาวที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้
บีเทลจุสเป็นดาวมวลมากและมีอายุแก่มาก เรียกว่า ดาวยักษ์ใหญ่สีแดง (Red supergiant) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 700 ปีแสง เป็นดาวดวงหนึ่งในกลุ่มดาวนายพราน (Orion) อยู่ตรงหัวไหล่ของนายพราน (คนไทยมองเป็นขาหน้าของเต่าในกลุ่มดาวเต่า) นักดาราศาสตร์ทราบมาหลายสิบปีแล้วว่า ดาวดวงนี้เชื้อเพลิงของมันกำลังจะหมด และมันจะเกิดการระเบิดเป็น ซุปเปอร์โนวา (Supernova) (การระเบิดอันโชติช่วง) ในไม่ช้านี้
ตั้งแต่ที่ดาวดวงนี้เริ่มหรี่แสงลงในเดือนตุลาคม 2562 นักดาราศาสตร์ก็ได้เฝ้าจับตาดูมันอย่างใจจดใจจ่อ โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ความสว่างของมันลดลงจากการเป็นดาวที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าลำดับที่ 6 ลงไปอยู่ในลำดับที่ 21 นั่นอาจจะไม่ได้แปลว่ามันกำลังจะระเบิด แต่พฤติกรรมแปลกๆ นี้ก็ชวนให้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
Emily Levesque นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเมืองซีแอทเทิล และ Philip Massey นักดาราศาสตร์จากหอดูดาวโลเวลล์ในกรุงแฟลกสตาฟ รัฐแอริโซนา ได้ตัดสินใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ทางสัณฐานวิทยา ที่จะอธิบายเรื่องการหรี่แสงลง แทนที่จะเชื่อว่ามันจะเกิด ซูปเปอร์โนวา ซึ่งตัวเลือกนี้รวมไปถึงการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วของพื้นผิวดาวเนื่องจากการเดือดของพลาสมาที่ประทุขึ้นและจมลงซึ่งเกิดขึ้นอยู่ภายใน หรืออาจจะเป็นเพราะเมฆฝุ่นที่เพิ่งจะเกิดการประทุขึ้นจากตัวดาวเมื่อเร็วๆนี้ มาบดบังแสงดาว ทำให้บีเทลจุสดูมืดลงกว่าปกติ
นักดาราศาสตร์ทั้ง 2 คน ทำการสำรวจดาวเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เมื่อมันเกือบจะหรี่ลงมากที่สุดโดยค้นหาสัญญาณของโมเลกุลไทเทเนียมออกไซด์ ที่อยู่ชั้นนอกของดาวฤกษ์ ซึ่งจะเป็นตัวบอกอุณหภูมิของดาวได้ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการสังเกตเหล่านี้เทียบกับข้อมูลเมื่อปี 2547 พบว่าอุณหภูมิลดลงประมาณ 25 องศาเซลเซียส มันน่าแปลกใจ ว่าอุณหภูมิมันแทบไม่แตกต่างกันเลย แสดงว่าอุณหภูมิไม่น่าจะเกี่ยวกับการหรี่แสงลงอย่างมากในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาของดาวดวงนี้ Levesque กล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นนี้ไว้ในวารสารดาราศาสตร์ฟิสิกส์ (Astrophysical Journal Letters) ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสูญเสียมวล (Elimination)
นักดาราศาสตร์ทราบกันดีว่าดาวยักษ์ใหญ่สีแดง อย่างเช่น ดาวบีเทลจุส มักจะมีเมฆก๊าซที่ควบแน่นกลายเป็นฝุ่นรวมกันอยู่ และดาวก็หรี่ลงอย่างสม่ำเสมอในทุกช่วงความยาวคลื่นแสงที่ Levesque ทำการวัด ซึ่งสนับสนุนความคิดที่ว่าฝุ่นจากดาวมีผลต่อการหรี่แสงของมัน ซึ่งถ้าฝุ่นนี้เป็นฝุ่นที่อยู่ในอวกาศ(ไม่ใช่ฝุ่นจากตัวดาว) ความยาวคลื่นแสงจะหรี่ลงแค่บางความยาวคลื่นเท่านั้น
Miguel Montargès นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ของ KU Leuven ในประเทศเบลเยียมกล่าวว่า “การศึกษาในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของการเข้าใจได้อย่างดีขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับดาวดวงนี้” โดย Montargès และทีมงานของเขาได้สังเกตการณ์ บีเทลจุส ด้วยกล้อง VLT (Very Large Telescope) ในประเทศชิลี จากผลการสังเกตการณ์ ดาวดวงนี้ดูหรี่ลงอย่างเห็นได้ชัดในเดือนธันวาคม 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสังเกตในช่วงเดือนมกราคม 2562 ก่อนที่จะค่อยๆเริ่มสว่างขึ้นมาอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าการหรี่แสงนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในซีกใต้ของดาวเท่านั้น ไม่ได้สม่ำเสมอทั่วทั้งดวง ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่ทีมงานได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา นั่นสามารถอธิบาย
ได้ด้วยการเกิดเมฆฝุ่น ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วกระบวนการอาจจะซับซ้อนกว่านั้น ซึ่ง Montargès วางแผนที่จะทำการสังเกตการณ์บีเทลจุสอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้และจะรายงานผลการสังเกตช่วงปลายปี
หากการหรี่แสงของบีเทลจุสนั้นเกิดจากเมฆฝุ่นจริงๆ นั่นจะทำให้นักดาราศาสตร์มีโอกาสที่จะสังเกตการสูญเสียมวลของของดาวฤกษ์ของจริงได้ ซึ่งมีวลีดังที่ว่า“พวกเราคือซากธุลีของดวงดาว” บางทีอะตอมที่เราเฝ้าดูมันอยู่อาจจะกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์และสิ่งมีชีวิตในวันข้างหน้า นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงน่าตื่นเต้นมาก
นักดาราศาสตร์คนอื่นๆ เสนอข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แบบจำลองเรื่องฝุ่นนั้นดูเข้าท่า แต่ก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ของคำอธิบายอื่น ๆ ที่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดภายในดาวดวงนี้ได้ บีเทลจุส นั้นจะหรี่ลงและสว่างขึ้นตามธรรมชาติในรอบ 420 วัน และแม้ว่าครั้งนี้มันจะหรี่ลงอย่างมาก แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในขั้นปกติ ซึ่งเราก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของมัน
ผู้เขียน
นายเชษรฐา ละดาห์
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มารูปภาพแหล่งที่มาของข้อมูล
https://www.sciencenews.org/article/betelgeuse-star-dust-supernova-explosion