พบปรากฏการณ์ประหลาด ออโรราสีฟักทอง

พบปรากฏการณ์ประหลาด ออโรราสีฟักทอง

04-12-2023
ภาพถ่ายออโรราสีส้มฟักทอง โดยนายฮาร์ลาน โธมัส (Harlan Thomas) พบที่รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา

เมื่อ 19 ตุลาคม 2566 เกิดปรากฏการณ์ออโรราหรือแสงขั้วโลก (Aurora Polaris) ที่มีสีส้มฟักทองขึ้น ที่รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแสงขั้วโลกต่างประหลาดใจกับการปรากฏของแสงเหนือในลักษณะนี้ เนื่องจากเป็นสีที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามปกติ โดยส่วนใหญ่แสงขั้วโลกมักจะพบเห็นเป็นสีเขียว สีแดง หรือสีม่วง ศาสตราจารย์เคลล์มาร์ ออคซาวิค  (Prof. Kjellmar Oksavik) นักฟิสิกส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแสงออโรราจากมหาวิทยาลัยเบอร์เกน (University of Bergen) ประเทศนอร์เวย์ ให้ข้อมูลถึงออโรร่าว่าเกิดจากอนุภาคไฟฟ้าในอวกาศที่ถูกปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์หรือที่เรียกว่า ลมสุริยะ (solar wind) อนุภาคบางส่วนเคลื่อนที่ไปตามเส้นแรงแม่เหล็กโลกผ่านเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกบริเวณขั้วโลกเหนือและใต้ อนุภาคไฟฟ้าเหล่านี้ชนเข้ากับอะตอมก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศเกิดการแตกตัวและปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่เรามองเห็นเป็นสีต่าง ๆ ได้ ขึ้นอยู่กับความสูงและชนิดของก๊าซ โดยแสงออโรร่าสีเขียวเกิดขึ้นที่ระดับความสูงจากพื้นโลกประมาณ 100-200  กิโลเมตร เนื่องจากเป็นชั้นบรรยากาศที่มีโมเลกุลก๊าซออกซิเจนหนาแน่น ส่วนแสงสีแดงจะปรากฏในช่วงชั้นบรรยากาศที่สูงกว่า 200 กิโลเมตรขึ้นไป ในขณะที่แสงสีฟ้าและสีม่วงมักจะปรากฏที่ช่วงความสูงต่ำกว่า 120 กิโลเมตร ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศที่มีโมเลกุลของก๊าซไนโตรเจนหนาแน่นกว่าออกซิเจน และบางครั้งอาจพบเห็นแสงออโรราเป็นสีชมพูได้ หากเกิดพายุสุริยะที่มีความรุนแรงสูงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ เขาให้ความเห็นและคาดการณ์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า แสงออโรราสีส้มมีโอกาสพบได้น้อยกว่าสีอื่น ๆ รวมถึงสีชมพู เนื่องจากแสงสีส้มจะเกิดขึ้นได้จากลมสุริยะที่ชนกับอะตอมของก๊าซนีออน แต่สัดส่วนก๊าซนีออนในชั้นบรรยากาศไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ออโรราสีส้มบนท้องฟ้าได้ เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณออกซิเจนและไนโตรเจนในบรรยากาศที่มีสัดส่วนมากกว่า เขาจึงตั้งสมมติฐานว่าการเกิดปรากฏการณ์นี้อาจเกิดได้จากการผสมแสงออโรราสีเขียวที่อยู่ในชั้นบรรยากาศด้านล่างกับแสงสีแดงที่อยู่ในชั้นบรรยากาศเหนือขึ้นไป ทำให้มองเห็นจากพื้นโลกเป็นสีส้ม และแม้ว่าแสงออโรร่าสีแดงและสีเขียวมีโอกาสเกิดขึ้นได้พร้อมกันบ่อยครั้ง แต่แสงออโรราที่ผสมกันจนเกิดเป็นสีส้มฟักทองนั้นหาได้ยากอย่างยิ่ง โดยเคยเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา และเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมเช่นเดียวกันกับปีนี้อีกด้วย

แสงเหนือสีขมพู
แสงเหนือสีชมพูเกิดขึ้นได้จากพายุสุริยะที่มีความรุนแรงสูง

 

 

เรียบเรียงโดย: อภิชญา นุชจิโน นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. 

ข้อมูลจาก

  • Solar storm causes 'impossible,' pumpkin-colored auroras to fill the sky , แหล่งที่มา:

https://www.livescience.com/space/the-sun/solar-storm-causes-impossible-pumpkin-colored-auroras-to-fill-the-sky [2 พฤศจิกายน 2566]

  • Enigma in the Sky: Rare Orange Aurora Borealis Dazzles Experts. 2023, แหล่งที่มา:

https://bnn.network/world/canada/enigma-in-the-sky-rare-orange-aurora-borealis-dazzles-experts/  [2 พฤศจิกายน 2566]

  • Why are there different Northern Lights colours? , แหล่งที่มา:

https://aurora-nights.co.uk/northern-lights-information/what-are-the-northern-lights/why-are-there-different-colours/#:~:text=Oxygen%20gives%20off%20the%20fluorescent,while%20neon%20turns%20them%20orange [3 พฤศจิกายน 2566]

  • Mysterious orange aurora seen in Canada puzzle scientists , แหล่งที่มา:

https://www.indiatoday.in/science/story/mysterious-orange-aurora-seen-in-canada-puzzle-scientists-2453360-2023-10-25 [3 พฤศจิกายน 2566]