“มังกรผจญเพลิง” หุ่นยนต์ดับเพลิงระยะไกล ฝีมือนักวิจัยประเทศญี่ปุ่น

“มังกรผจญเพลิง” หุ่นยนต์ดับเพลิงระยะไกล ฝีมือนักวิจัยประเทศญี่ปุ่น

01-03-2024
“มังกรผจญเพลิง” หุ่นยนต์ดับเพลิงระยะไกล ฝีมือนักวิจัยประเทศญี่ปุ่น

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า (Osaka University) ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาหุ่นยนต์ดับเพลิงที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “มังกร” ที่สามารถควบคุมได้จากระยะไกล เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในเหตุอัคคีภัยที่มีความรุนแรงสูง และเป็นอันตรายเกินกว่าที่มนุษย์จะรับได้

           ศาสตราจารย์ซาโตชิ ทาโดะโคะโระ (Satoru Tadokoro) มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) และทีมวิจัย เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์บินได้ มาตั้งแค่ปี ค.ศ. 2016 โดยมีการขอความคิดเห็น และรับฟังความต้องการของนักดับเพลิงชาวญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ดับเพลิงที่ช่วยสนับสนุนการทำงานที่มีความเสี่ยงสูงได้อย่างตรงเป้าหมายอย่างแท้จริง  

ดอกเตอร์ ยูอิชิ อัมเบร (Yuichi Umbre) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า (Osaka University) หนึ่งในทีมวิจัย ได้เปิดเผยว่า หุ่นยนต์ดับเพลิงนี้ มีชื่อว่า “มังกรผจญเพลิง” (Dragon Firefighter) ประกอบด้วยท่อดับเพลิงความยาว 4 เมตร ตั้งแต่หัวจรดหาง มีจุดพ่นน้ำ 8 ลำ ที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบ และกำหนดทิศทางการฉีดพ่นน้ำได้ มีอัตราการฉีดพ่นน้ำที่ 6.6 ลิตรต่อวินาที ด้วยแรงดันสูงสุด 1 เมกะปาสคาล ปลายท่อติดตั้งกล้องถ่ายตรวจจับความร้อนเพื่อช่วยหาจุดที่เกิดเพลิงไหม้ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบล้อที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่าง ๆ ด้วยการควบคุมระยะไกล (Remote Control) โดยล้อจะถูกติดตั้งกับถังบรรจุน้ำ ปริมาตร 14,000 ลิตร ซึ่งถูกติดตั้งอยู่ด้านหางของหุ่นยนต์ดับเพลิง

  ดอกเตอร์ ยู ยามะอุชิ (Yu Yamauchi) จากมหาวิทยาลัยอากิตะ (Akita University) ผู้ร่วมทีมวิจัยอีกท่าน ยังเปิดเผยว่า หุ่นยนต์มังกรผจญเพลิงนี้ เคยได้รับการเปิดตัวในงานประชุมหุ่นยนต์โลก ปี ค.ศ. 2020 (World Robot Summit 2020) เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2021 ณ เมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการตอบรับที่ดี แต่ทีมผู้พัฒนายังคงนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากกิจกรรมเปิดตัว มาวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ดับเพลิง เช่น การลดเวลาการเตรียมบินของหุ่นยนต์ การพัฒนาประสิทธิภาพของหัวฉีด การใช้วัสดุที่ทนความร้อนจากไฟ เป็นต้น ทั้งนี้ทีมวิจัยยังคงทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาศักยภาพของหุ่นยนต์ดับเพลิงต่อไปในอนาคตข้างหน้า

          หุ่นยนต์มังกรผจญเพลิงนี้ นับเป็นความสำเร็จด้านวิทยาการหุ่นยนต์ครั้งยิ่งใหญ่ โดยพิมพ์เขียว (Blueprint) ของหุ่นยนต์ดังกล่าว ถูกเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ฟรอนเทียร์ส (Frontiers) ในหมวดหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Robot And AI) ซึ่งเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจสามารถนำองค์ความรู้นี้ไปพัฒนาหุ่นยนต์ดับเพลิงได้อย่างอิสระ และสร้างสาธารณะประโยชน์ให้กับผู้คนได้  

 

แหล่งที่มา:

Scientists develop ‘Flying dragon’ robot to fight fires from a distance. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.frontiersin.org/news/2023/12/22/frontiers-robotics-ai-dragon-firefighter [28 ธันวาคม 2566]

"Dragon Firefighter" is a flying robot that fights fires from above. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.earth.com/news/dragon-firefighter-is-a-flying-robot-that-fights-fires-from-a-distance/ [28 ธันวาคม 2566]

Scientists develop ‘flying dragon’ robot to fight fires from a distance. [ออนไลน์]. 2023, แหล่งที่มา: https://www.eurekalert.org/news-releases/1029353 [28 ธันวาคม 2566]

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ข่าวสารที่่คล้ายกัน