นักวิทยาศาสตร์ทดลองปลูกถ่ายไตสุกรในมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ทดลองปลูกถ่ายไตสุกรในมนุษย์

30-04-2022
นักวิทยาศาสตร์ทดลองปลูกถ่ายไตสุกรในมนุษย์

https://www.livekindly.co/gunda-film-pig-sentience/

การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ Transplantation) เป็นหนึ่งในความหวังการบรรเทาความเจ็บป่วยของผู้ที่มีภาวะผิดปกติที่อวัยวะสำคัญในร่างกาย แต่จำนวนของผู้บริจาคอวัยวะสำหรับปลูกถ่ายกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ที่รอรับบริจาคอวัยวะ นักวิทยาศาสตร์จึงได้วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการอวัยวะ ต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยนับล้านคนทั่วโลก

ทีมศัลยแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการปลูกถ่ายไตของสุกรที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมให้ร่างกายไม่สร้างเอนไซม์ที่ชื่อ แอลฟากาแลคโตซิเดส (Alpha-galactosidase หรือ Alpha-gal) ซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ในผู้ป่วยภาวะสมองตาย และครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ในผู้ป่วยที่เพิ่งเสียชีวิต เพื่อทดสอบความเข้ากันได้ของอวัยวะจากสัตว์ที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์

ดร. โรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี่ (Dr. Robert Montgomery) ผู้อำนวยการสถาบันการปลูกถ่ายอวัยวะ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (N.Y.U. Langone Transplant Institute) ได้เปิดเผยว่าการทดลองปลูกถ่ายอวัยวะทั้ง 2 ครั้งประสบความสำเร็จด้วยดี โดยพบว่าไตของสุกรที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมสามารถเข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ และทำงานได้อย่างปกติ แม้จะเป็นการทำงานในระยะสั้น ๆ ก่อนที่ร่างกายของผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจะหยุดทำงาน และเสียชีวิตอย่างสมบูรณ์ นับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งสู่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง (Xenotransplantation)

สุกรเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอวัยวะภายในร่างกายคล้ายกับมนุษย์ และมีขนาดของอวัยวะบางอวัยวะใกล้เคียงกัน สุกรจึงอาจเป็นแหล่งผลิตอวัยวะทดแทนที่ยั่งยืน และปลอดภัย ทั้งนี้ ดร.มอนต์โกเมอรี่ แสดงทัศนะว่า หากสุกรต้องถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์อยู่แล้ว การใช้สุกรเป็นแหล่งผลิตอวัยวะทดแทนก็อาจเป็นความหวังของผู้ป่วยที่รอการบริจาคอวัยวะทั่วโลกในอนาคตได้ ถึงแม้จะดูขัดแย้งกับความรู้สึกของผู้คนทั่วไปก็ตาม

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

แหล่งที่มาข้อมูล:
US surgeons test pig kidney transplant in a human. ออนไลน์, 2021, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/news/health-58993696
Genetically Engineered Pig Kidney Successfully Transplanted Into Human In World First. ออนไลน์, 2021, แหล่งที่มา: https://www.iflscience.com/health-and-medicine/genetically-engineered-pig-kidney-successfully-transplanted-into-human-patient-in-world-first/ [29 ธันวาคม 2564]
Pig Kidney Successfully Transplanted Into a Human Patient For The First Time Ever. ออนไลน์, 2021, แหล่งที่มา: https://www.sciencealert.com/a-pig-kidney-has-been-successfully-transplanted-into-a-human-for-the-first-time [29 ธันวาคม 2564]
In a major scientific advance, a pig kidney is successfully transplanted into a human. ออนไลน์, 2021} แหล่งที่มา: https://www.npr.org/2021/10/20/1047560631/in-a-major-scientific-advance-a-pig-kidney-is-successfully-transplanted-into-a-h [29 ธันวาคม 2564]
Pig Kidney Successfully Transplanted Into Human Recipient For Second Time. ออนไลน์, 2021, แหล่งที่มา: https://www.iflscience.com/health-and-medicine/pig-kidney-succesfully-transplanted-human-recipient-second-time/ [29 ธันวาคม 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน