สหรัฐอเมริกาพบอัตราการเกิดลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

สหรัฐอเมริกาพบอัตราการเกิดลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

29-04-2022
สหรัฐอเมริกาพบอัตราการเกิดลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

         ค.ศ. 2020 ผลการสำรวจระบุถึงอัตราการเกิดในสหรัฐอเมริกาลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 จำนวนเด็กแรกเกิดลดลงคิดเป็นร้อยละ 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของอัตราการเกิดทั่วโลกเช่นกัน ในปี ดังกล่าว พบปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราการเกิดลดลงคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19)

          สำนักข่าวบีบีซี รายงานผลสำรวจของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and prevention: CDC) และศูนย์สถิติด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Center for Health Statistics) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสำรวจและเปรียบเทียบอัตราเจริญพันธุ์กับจำนวนทารกจากประชากรเพศหญิงในวัยเจริญพันธุ์ (อายุระหว่าง 15-44 ปี) ชี้ว่า ค.ศ. 2020 ในสหรัฐอเมริกาพบทารกแรกเกิด 56 คนต่อประชากรเพศหญิง 1,000 คน ซึ่งน้อยที่สุดในประวัติการณ์ ผลสำรวจยังพบว่าอัตราการเกิดที่ลดลงปรากฏขึ้นในทุกเชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ อัตราการเกิดที่เหมาะสมเพื่อให้โครงสร้างประชากรมีความสมดุล นักวิจัยประเมินว่าควรอยู่ที่ค่า 2.1 ขณะที่ปัจจุบันมีค่า 1.6 เท่านั้น

         จากผลสำรวจพบว่าค่าเฉลี่ยของหญิงชาวอเมริกันเป็นคุณแม่ครั้งแรกเมื่ออายุ 27 ปี ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าอัตราการเกิดที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับปัจจัยด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการแต่งงานที่ล่าช้าของเพศหญิง รวมทั้งจำนวนคุณแม่วัยใส (หญิงอายุระหว่าง 15 – 19 ปีที่ให้กำเนิดบุตร) ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าศูนย์สถิติด้านสุขภาพแห่งชาติยังไม่สามารถระบุได้ว่าการแพร่ระบาดของ Covid-19 เป็นปัจจัยหนึ่งในการลดลงของอัตราการเกิดอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีข้อมูลจากหลายแหล่งกล่าวไว้ เช่น สถาบัน Guttamacher พบว่าผู้หญิงอเมริกันจำนวน 1 ใน 3 คน ชะลอการมีบุตรในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid-19 หรือวางแผนจะมีบุตรจำนวนน้อย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสถาบัน Brooking ซึ่งให้ความเห็นว่าความวิตกกังวลและความผันผวนทางเศรษฐกิจเนื่องจาก Covid-19 จะส่งผลต่ออัตราการเกิด ขณะที่ CDC ก็พบสถิติอัตราการเกิดลดลงอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัดในช่วงที่เริ่มมีการระบาดของ Covid-19 เมื่อปลาย ค.ศ. 2020

          สำหรับภาพรวมของประชากรโลก องค์การสหประชาชาติรายงานว่าอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงเช่นกันทั้งในกลุ่มประเทศร่ำรวย (ประเทศพัฒนาแล้ว) เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง เช่น ประเทศไทย บราซิล (แต่อัตราทดแทนยังสูงกว่าค่า 2.1) ยกเว้นกลุ่มประเทศในแอฟริกาที่มีการอัตราการเกิดสูง แต่ไม่อาจฉุดค่าเฉลี่ยของอัตราการเกิดของประชากรโลกให้สูงขึ้นด้วยได้

          แม้ว่าการที่มีประชากรโลกลดลงอาจส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้สอยทรัพยากรต่าง ๆ แต่กลับมีประเด็นชวนให้จินตนาการและเตรียมรับมือกับสถานการณ์สังคมผู้สูงวัย หลายประเทศจึงมีนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อชดเชยอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง เช่น เปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศสนับสนุน/ส่งเสริมการมีบุตรในด้านต่าง ๆ เป็นต้น

 

ผู้เขียน จีรวรรณ สัมฤทธิ์ดี

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-57003722

https://www.bbc.com/thai/international-53416257