ปลาอุบยักษ์แต้มขาว หรือปลาอุบยักษ์เอเชียตะวันออก เป็นปลาทะเลชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบโดย ดร.วีระ วิลาศรี นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ดร. ฮวน ชิง โฮ นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์ชีววิทยาทางทะเลและสถานแสดงสัตว์น้ำแห่งชาติไต้หวัน ดร. โทชิโอะ คาวาย นักวิจัยประจำคณะวิทยาศาสตร์การประมงแห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น และ ดร. มาร์ติน โกมอน นักวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้ตีพิมพ์บรรยายลักษณะในวารสารวิชาการ Zootaxa เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ปลาชนิดนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Ichthyscopus pollicaris โดยชื่อชนิด “pollicaris” มาจากภาษาละตินหมายถึง “นิ้วหัวแม่มือ” ซึ่งอนุมานใช้เทียบเคียงตำแหน่งเดียวกันกับก้านครีบอกแรกบนสุด (Uppermost pectoral ray) ของปลาชนิดนี้ที่มีลักษณะเด่นของแต้มสีขาวปรากฏอยู่
ปลาอุบยักษ์แต้มขาวจัดจำแนกอยู่ในสกุล Ichthyscopus วงศ์ Uranoscopidae เป็นปลาที่มีรูปแบบการดำรงชีวิตพิเศษโดยฝังลำตัวและหัวไว้ใต้พื้นทรายโพล่เพียงตาและปากเพื่อดักจับเหยื่อที่เป็นปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กที่ว่ายผ่านมาใกล้
ลักษณะสัณฐานมีหัวโตห่อหุ้มด้วยกระดูกแข็งผิวขรุขระ ลำตัวยาวแบนข้างเล็กน้อย ตาตั้งอยู่ด้านบนหัว ปากเปิดด้านบน ริมฝีปากบนและล่างมีแถบซี่ติ่งเนื้อสำหรับกรองทรายหรือโคลนไม่ให้เข้าปาก โพรงจมูกเชื่อมต่อกับช่องปากช่วยระบบหายใจโดยให้น้ำผ่านเข้าปากได้มากขึ้น ทำปลาสามารถกบดานใต้พื้นทรายได้เป็นเวลายาวนาน มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร
บทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศพื้นท้องทะเลโดยเป็นผู้ล่าควบคุมปริมาณสัตว์หน้าดิน ปลาอุบยักษ์แต้มขาวพบแพร่กระจายในบริเวณเขตมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไต้หวัน
ผู้เรียบเรียง : ดร.วีระ วิลาศรี
ที่มาข้อมูล : สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ZOOTAXA 4702 (1): 049-059
https://www.mapress.com/j/zt/article/view/zootaxa.4702.1.10/37937