“ฉันมาทำอะไรตรงนี้”: สาเหตุใหม่ของภาวะสมองหยุดชะงัก

“ฉันมาทำอะไรตรงนี้”: สาเหตุใหม่ของภาวะสมองหยุดชะงัก

29-04-2022
“ฉันมาทำอะไรตรงนี้”: สาเหตุใหม่ของภาวะสมองหยุดชะงัก

ภาพจาก https://www.deccanchronicle.com/science/science/280416/forget-things-when-you-walk-through-a-door.

หากคุณเคยเดินไปที่ที่หนึ่ง แล้วจู่ ๆ ก็ลืมไปว่าคุณมาทำอะไรที่นี่ คุณอาจกำลังเผชิญกับภาวะสมองว่างเปล่ากะทันหัน หรือ "ปรากฏการณ์ปากประตู" (Doorway Effect) ภาวะนี้เกิดจากสมองอ่อนล้า หรือสมองล้างความทรงจำเพื่อการใช้งานเฉพาะหน้าให้ว่างเปล่าเมื่อเปลี่ยนสถานที่ เพื่อให้พร้อมรับข้อมูลหรือประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ดี นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าปรากฏการณ์ปากประตูจะเกิดขึ้นเฉพาะในตอนที่สมองของเรากำลังอ่อนล้า ซึ่งอาจไม่ตรงกับการศึกษาที่มีมาก่อนหน้านี้

จากการทดลองโดยใช้ใช้อุปกรณ์จำลองโลกเสมือนจริง หรือวีอาร์ (VR) ในกลุ่มอาสาสมัคร 74 คน เดินผ่านห้องสามมิติที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นหลายห้อง โดยให้อาสาสมัครพยายามจดจำวัตถุต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในห้องที่ผ่านมาให้ได้

ดร. โอลิเวอร์ บอมานน์ นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบอนด์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “อาสาสมัครทั้งหมดไม่มีอาการหลงลืม หรือเกิดปรากฎการณ์ปากประตูขึ้นแต่อย่างใด เพราะพวกเขายังจดจำทุกอย่างได้ ดังนั้น เราจึงทำให้สถานการณ์ดูยากขึ้น โดยให้อาสาสมัครทำงานที่ยากขึ้น เช่น ให้นับเลขถอยหลังไปด้วยขณะที่เดินผ่านห้องและจดจำวัตถุต่าง ๆ และพบว่าอาสาสมัครจำนวนมากเริ่มมีอาการหลงลืมเกิดขึ้น โดยอาการหลงลืมจะเกิดขึ้นเมื่อสมองอยู่ในภาวะที่ต้องแบกรับข้อมูลจำนวนมากเกินไป หรืออยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมต่อการรับรู้ จนไม่อาจจัดการกับความจำได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งที่คล้ายกัน มักจะไม่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปากประตูขึ้น แต่หากเปลี่ยนสถานที่ไปเป็นที่อื่นทีมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จะทำให้เกิดอาการหลงลืมกะทันหันได้มากกว่า”

ดร. บอมานน์ เสริมว่า “ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เวลาที่คุณเดินอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือการขึ้นลงบันไดเลื่อนเพื่อเปลี่ยนชั้น ไม่ได้ทำให้คุณหลงลืมอะไรไปมากเท่ากับการเดินออกจากแผนกสินค้าไปยังลานจอดรถ ซึ่งเหตุการณ์ขณะนั้นจะทำให้คุณลืมซื้อของบางอย่างที่ต้องการไปได้”

สมองมีความสามารถในการเก็บข้อมูล และเรียกใช้ความทรงจำโดยแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ทำให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากสมองอยู่ในบริบทแวดล้อมที่ต่างออกไป ทำให้เกิดการเรียกคืนข้อมูลความจำจากส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ต้องการทำแต่แรก

ดร. บอมานน์ สรุปว่า “ถ้าหากไม่ต้องการตกอยู่ในภาวะสมองว่างเปล่ากะทันหันแบบนี้ ควรพยายามตั้งสมาธิจดจ่อกับงานตรงหน้าจนกว่ามันจะสำเร็จลุล่วงไปทีละอย่าง”

 

เรียบเรียงโดย ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.

ที่มาข้อมูล :
What Did I Come in Here For? New Study Explains The Weird 'Doorway Effect'. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://www.sciencealert.com/scientists-find-the-doorway-effect-could-be-real-but-only-in-overloaded-brains [19 มีนาคม 2564]