“เหงื่อ” ปราการแรกป้องกันโรคจากเห็บ

“เหงื่อ” ปราการแรกป้องกันโรคจากเห็บ

19-04-2024
1

การศึกษาเหงื่อของคนพบว่าโปรตีนในเหงื่อมีประโยชน์ในการป้องกันแบคทีเรียก่อโรค Lyme หรือเชื้อจากการโดนเห็บกัด

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 วารสาร Nature Communications เผยข้อมูลการศึกษาโปรตีนในเหงื่อคนมีคุณสมบัติในการป้องกันแบคทีเรีย Borrelia burgdorferi ที่ทำให้เกิดโรคลายม์ (lyme disease) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีเห็บเป็นพาหะ พบบ่อยในเขตยุโรปและอเมริกา Satu Strausz และคณะทำการทดลองนำเหงื่อของคนมาทดสอบในจานเพาะเชื้อที่มีแบคทีเรียดังกล่าวและทดลองในหนูทดลอง ผลปรากฎว่าเชื้อหยุดการเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยโปรตีนในเหงื่อที่ถูกสร้างบริเวณต่อมเหงื่อผิวหนังที่ถูกสร้างโดยยีน SCGB1D2 เป็นปราการด่านแรกที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อของมนุษย์โดยธรรมชาติ แต่เมื่อศึกษาในกลุ่มทดลองพบว่าร้อยละ 40 มีการกลายพันธุ์ของโปรตีนส่งผลให้มีโอกาสในการติดเชื้อได้มากกว่าปกติ การค้นพบครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างยารักษาโรคที่สกัดโปรตีนจากเหงื่อไปยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคดังกล่าว

ถึงแม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับจากต่างประเทศมีโอกาสในการติดเชื้อดังกล่าวสูง การเข้าใจกลไกในธรรมชาติเพื่อป้องกันโรคจนนำมาสู่การรักษา จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.nature.com/articles/s41467-024-45983-9

 

Reference

S. Strausz et al. SCGB1D2 inhibits growth of Borrelia burgdorferi and affects susceptibility to Lyme disease. Nature Communications. Published online March 19, 2024. doi: 10.1038/s41467-024-45983-9.

 

ผู้เรียบเรียง

ศักดิ์ชัย จวนงาม

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ