ภาพจาก https://www.shutterstock.com/th/image-photo/skin-cells-stained-fluorescent-dyes-185654870
ทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยบาบราแฮม (Babraham Institute) เมืองแคมบริดจ์ (Cambridge) ประเทศอังกฤษ ได้พัฒนาเทคนิคที่สามารถเปลี่ยนนาฬิกาชีวภาพของเซลล์ผิวหนังที่แก่ชราให้กลับอ่อนเยาว์และมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเซลล์ผิวหนังที่อายุน้อยกว่าถึง 30 ปี โดยสร้างจากเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ที่โตเต็มวัย ซึ่งสามารถใช้รักษาสภาพผิวได้ในอนาคต
ในปี พ.ศ. 2550 ศาสตราจารย์ชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคนิคที่เปลี่ยนแปลงเซลล์ที่โตเต็มวัยให้เกิดกระบวนการย้อนกลับไปเป็นเซลล์ต้นกำเนิดโดยการใส่โมเลกุล 4 ชนิด ที่เรียกว่า Yamanaka factors ซึ่งสามารถจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของเซลล์ โดยใช้เวลาประมาณ 50 วัน เพื่อให้เกิดการแสดงออกของโมเลกุลเหล่านี้ในการเปลี่ยนจากเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากการปรับแต่งยีน (Induced Pluripotent Stem Cell : iPSCs)
ดิลจีท กิลล์ (Diljeet Gill) นักวิจัยจาก สถาบันวิจัยบาบราแฮม เมืองแคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า "เมื่อคุณเปลี่ยนเซลล์เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากการปรับแต่งยีน หรือ iPSCs คุณจะสูญเสียเซลล์ชนิดเดิมและหน้าที่การทำงานของเซลล์"
ปัจจุบันกิลล์และทีมวิจัยได้คิดค้นเทคนิคใหม่ที่ใช้ Yamanaka factors ในการฟื้นฟูเซลล์ผิวโดยไม่สูญเสียการทำงานของเซลล์เหมือนที่พบมาก่อนหน้านี้ โดยทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างเซลล์ผิวจากผู้บริจาค 3 ราย ที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี โดยนำมาเหนี่ยวนำด้วย Yamanaka factors ในเวลาเพียง 13 วัน เพื่อให้เกิดการย้อนวัยบางส่วนของเซลล์ จากนั้นจึงขจัด Yamanaka factors ออก และปล่อยให้เซลล์เกิดการเจริญเติบโต โดยปกติแล้ว เมื่อเราอายุมากขึ้น DNA ของเราจะถูกติดตามด้วยสารเคมี ดังนั้น การติดตามเครื่องหมายเหล่านี้จะช่วยให้เราทราบว่าร่างกายของเรามีอายุเท่าใด สิ่งนี้เรียกว่า นาฬิกาบ่งชี้อายุทางชีวภาพ (Epigenetic clock) และเมื่อเวลาผ่านไป ยีนบางตัวของเราจะเปิดหรือปิด ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ทรานสคริปโตม (Transcriptome)
กิลล์และทีมวิจัย พบว่า นาฬิกาบ่งชี้อายุทางชีวภาพและโปรไฟล์ทรานสคริปโตมของเซลล์ที่การจัดรูปแบบในเซลล์ใหม่ (Reprogrammed cells) บางส่วนนั้น ตรงกับโปรไฟล์ของเซลล์ผิวหนังของผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี นอกจากนี้ เซลล์ผิวหนังที่ฟื้นฟูแล้วยังกลับมาทำหน้าที่เหมือนเซลล์ของคนหนุ่มสาว โดยสร้างคอลลาเจนได้มากกว่าเซลล์ที่ไม่ได้มีการจัดรูปแบบในเซลล์ใหม่ และเมื่อวางลงบนแผลเทียม เซลล์ที่การจัดรูปแบบในเซลล์ใหม่นี้สามารถเคลื่อนตัวมาซ่อมแซมบาดแผลเทียมได้เร็วกว่าเซลล์ที่มีอายุมากอีกด้วย
วูล์ฟ ไรค์ (Wolf Reik) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยบาบราแฮม กล่าวว่า “ในคนหนุ่มสาว ถ้าเกิดบาดแผลขึ้น บาดแผลนั้นจะหายเร็วขึ้น ในขณะที่ต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่า และมันเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะนี่ไม่ใช่แค่การอ่านค่าโมเลกุลที่อายุน้อยกว่า แต่เซลล์ยังทำหน้าที่เหมือนกับเซลล์อายุน้อยอีกด้วย กุญแจสำคัญในการศึกษานี้คือ ขณะนี้เราสามารถสร้างเซลล์ได้อย่างมากโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเอกลักษณ์หรือหน้าที่การทำงานของเซลล์ ซึ่งในการศึกษาก่อนหน้านี้ใช้สเต็มเซลล์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต้องการสำหรับการรักษา
กิลล์ เสริมว่า “เทคนิคนี้อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดกับผิวหนังได้ในอนาคต เช่น แผลไฟไหม้และแผลพุพอง นอกจากนี้ ยังมีข้อดีคือเซลล์ดังกล่าวจะไม่ถูกต่อต้านโดยร่างกายของบุคคล เนื่องจากเซลล์เหล่านั้นเป็นเซลล์ของตัวเราเอง จนถึงตอนนี้เราได้ทดสอบเทคนิคนี้ในเซลล์ผิวหนังเท่านั้น และเรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นว่าเราสามารถแปลเปลี่ยนมันในเซลล์ประเภทอื่น ๆ ได้”
เรียบเรียงโดย: ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สพว. อพวช.
ที่มาข้อมูล :
Anti-ageing technique makes skin cells act 30 years younger. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา : https://www.newscientist.com/article/2315485-anti-ageing-technique-makes-skin-cells-act-30-years-younger/ [11 เมษายน 2565]
“Time Jump” by 30 Years: Old Skins Cells Reprogrammed To Regain Youthful Function. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา : https://scitechdaily.com/time-jump-by-30-years-old-skins-cells-reprogrammed-to-regain-youthful-function/ [11 เมษายน 2565]