สุนัขจิ้งจอก

สุนัขจิ้งจอก

29-04-2022
สุนัขจิ้งจอก

การฟื้นฟูคืนสภาพของระบบนิเวศกำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ที่มีมาตรการป้องกันและการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์ พื้นที่ส่วนบุคคล หรือป่าชุมชนหลายแห่ง ไม่ว่าจะด้วยเพราะบุคคล ชุมชน หน่วยงานราชการ หรือการร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด หนทางหนึ่งในการติดตามตรวจสอบการฟื้นฟูนี้คือ การสำรวจหรือการพบสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในพื้นที่ โดยชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นไม่ว่าจะเคยมีอยู่ก่อนแล้วหายไปหรือเป็นชนิดที่แพร่กระจายเข้ามาใหม่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นหลักฐานและสัญญาณอันดีที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กำลังฟื้นตัวกลับมา

จากข่าวการรายงานการพบสัตว์ป่าหลายชนิดกลับเข้ามาใช้พื้นที่ในป่าชุมชนมากขึ้น หนึ่งในนั้นมีรายงานการกลับมาของ สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่าหนึ่งในสองชนิดที่สามารถพบได้ในประเทศไทย ซึ่งถ้ามองข้ามภาพประกอบรายงานที่เกิดความผิดพลาดในการนำรูป หมาจิ้งจอกแดง (Red fox, Vulpes vulpes) ซึ่งไม่มีการแพร่กระจายในประเทศไทยมาใช้แล้วนั้น การกลับมาของสุนัขจิ้งจอกถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง เนื่องจากการกลับเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ของสัตว์ผู้ล่าหมายถึงต้องมีเหยื่อให้ผู้ล่า ซึ่งต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ดังกล่าวต้องมีเหยื่อมากพอที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้ล่า ต่อเนื่องไปอีกถึงระบบนิเวศซึ่งมีความสมบูรณ์และสมดุลมากพอที่จะคงไว้ซึ่งทั้งเหยื่อและผู้ล่าให้ดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์

 

แหล่งที่มาของข่าว : https://www.facebook.com/buriramdotme/photos/a.641784946299595/1166015367209881/?type=3

 

ประเทศไทยมีรายงานการแพร่กระจายของสุนัขป่า 2 ชนิด ได้แก่ หมาใน (Dhole, Cuon alpinus) และ สุนัขจิ้งจอกหรือหมาจอก (Golden jackal, Canis aureus) ซึ่งชนิดหลังน่าจะเป็นหมาจิ้งจอกที่เนื้อหาข่าวต้องการกล่าวถึง

สุนัขจิ้งจอกหรือหมาจอก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในวงศ์ Canidae หรือก็คือ วงศ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมรูปร่างคล้ายสุนัขดำรงชีวิตด้วยการกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร รูปร่างของสุนัขจิ้งจอกใกล้เคียงกับสุนัขทั่วไป รูปทรงลำตัวเพรียว ปลายจมูกยื่นยาว หูตั้ง ขนปกคลุมลำตัวสีน้ำตาลแกมเหลืองเทา รยางค์ขาทั้งสองคู่ยาว ขนปกคลุมสีน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง หางยาวเป็นพวงสีน้ำตาลเทาหรือดำ มีพฤติกรรมออกหากินในเวลาที่ค่อนข้างมีแสงน้อยช่วงรุ่งสางหรือโพล้เพล้แต่ก็สามารถพบเห็นได้ทุกช่วงเวลาตลอดทั้งวัน มักออกหากินตัวเดียวหรือเป็นคู่ ไม่มีพฤติกรรมการรวมฝูงขนาดใหญ่เหมือนสุนัขป่าชนิดอื่น แต่สามารถพบได้หลายตัวในพื้นที่เดียวกันถ้าอาหารในพื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ สุนัขจิ้งจอกกินได้ทั้งพืชและสัตว์แต่มักล่าสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์ปีกที่อาศัยอยู่ตามพื้นป่า และมีรายงานการเข้ากินซากที่เหลือจากผู้ล่าขนาดใหญ่กินไม่หมดด้วยเช่นกัน

 สุนัขจิ้งจอกมีการแพร่กระจายที่กว้างมาก สามารถพบได้ตั้งแต่ทวีปยุโรป แอฟริกาตอนบน เอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยพบได้เกือบทั่วทั้งประเทศ มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับพื้นที่อาศัยได้หลากหลายประเภท พบอาศัยได้ทั้งพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าถูกบุกรุก พื้นที่ป่ากำลังฟื้นตัว พื้นที่เกษตรกรรม หรือแม้กระทั่งบริเวณบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การพบเห็นหมาจิ้งจอกในพื้นที่เป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตามหากพบเห็นจากระยะไกลหรือในเวลาแสงน้อย อาจเกิดความสับสนในการจำแนกได้เนื่องจากขนาดลำตัวและสีสันคล้ายกับสุนัขบ้านหรือสุนัขจรจัดทั่วไปได้

 

อ้างอิง:

Francis, C. M. 2019. Field Guide to the Mammals of South-east Asia (2nd Edition). Bloomsbury Publishing PLC, London.

Lekagul, B. and McNeely, J. A. 1988. Mammals of Thailand (2nd Edition). Sahakarnbhat Co., Bangkok.

Zoological Park Organization. 2017. Asiatic Jackal (Canis aureus). Retrieved June 20, 2021, from http://www.zoothailand.org/en/animal_view.php?detail_id=17&c_id=