ปัจจุบันชายหาดประมาณ 15 % ของโลก กำลังถูกการกัดเซาะอย่างรุนแรง จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ชายหาดแต่ละแห่งมีอัตราสูญเสียหาดทรายที่แตกต่างกัน โดยพบว่าพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นมาก อย่าง พื้นที่ตามแนวชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ เอเชียใต้ และยุโรปกลาง อาจมีระยะของหาดทรายเข้าฝั่งหดสั้นเข้ามาเกือบ100 เมตร ภายในปี ค.ศ.2100 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยร่วมของคณะกรรมการยุโรป (EC-JRC) ได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้และตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Climate Change โดยมีการวิเคราะห์ว่าในอนาคตความเสียหายจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวน อุทกภัย จะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากแนวป้องกันคลื่นลมชั้นแรกซึ่งเป็นกันชนสำคัญในการปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจะหายไปนับหมื่นกิโลเมตรทั่วโลก
นอกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกว่าการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติ และ การกระทำของมนุษย์ เช่น การก่อสร้างอาคารรุกล้ำพื้นที่หาดธรรมชาติ การสร้างเขื่อน ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชายหาดด้วยเช่นกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ไปยับยั้งการซ่อมแซมตัวเองของชายฝั่ง ในขณะที่ชายหาดหลายพื้นที่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ไมอามี่ มีการรักษาชายหาดไว้โดยใช้การสร้างกำแพงบังคลื่น หรือเขื่อน เพื่อป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของชายหาด แต่เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวเป็นโครงการที่ใหญ่มากและต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ ทำให้การป้องกันดังกล่าวได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับว่า ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศและการควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเองว่ามีผลกระทบต่อการลดลงของชายหาด ผลที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2100 มีสองแบบด้วยกัน แบบแรกเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือ มนุษย์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นโดยไม่อาจควบคุมได้ จะส่งผลให้ชายหาดราว 49.5 % หรือ ชายหาดระยะทาง 132,000 กิโลเมตรหายไปจากโลก ส่วนแบบที่สอง หากมนุษย์ควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 3 องศาเซลเซียสได้ ชายหาดของโลกจะหายไปเป็นระยะทาง 95,000 กิโลเมตร
จากการศึกษายังพบอีกว่าประเทศออสเตรเลียมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยแนวชายฝั่งอย่างน้อย 50% หรือประมาณ 11,400 กิโลเมตรจะหายไปในปี ค.ศ.2100 และยังมีประเทศอื่นๆ ที่เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเป็นพื้นที่กว้างมากเช่นกัน ได้แก่ ชิลี จีน สหรัฐอเมริกา รัฐเซีย แม็กซิโก และอาร์เจนตินา รวมถึงเกาะเล็กๆ ก็จะประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะในแคริบเบียน
อย่างไรก็ตามหากยังมีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ใกล้บริเวณชายฝั่งมากเท่าไหร่ รวมถึงการสร้างก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้การรักษาชายหาดของโลกไว้ได้ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ มากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนว่าพื้นที่ของโลกก็จะจมหายไปในทะเลมากขึ้นเช่นกัน
ผู้เรียบเรียง วรภร ฉิมมี
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มา
https://edition.cnn.com/2020/03/02/world/beaches-disappearing-climate-change-sea-level-rise/index.html
https://www.bbc.com/thai/features-51721164
https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=90