ในปี พ.ศ. 2560–2562 อพวช. ได้ทำความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ และเห็ดราขนาดใหญ่บริเวณป่าชุมชนเขาหินปูนบ้านสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้โครงการวิจัย “การอนุรักษ์และการประเมินค่าทางเศรษฐกิจป่าชุมชนเขาหินปูน จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
จากความร่วมมือดังกล่าวนักวิจัยจากทั้ง 3 หน่วยงาน (ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง ดร.ปิยะพร พิทักษ์ตันสกุล และดร.ยุพเยาว์ โตคีรี) ได้ค้นพบและร่วมกันตั้งชื่อมดชนิดใหม่ของโลกที่สวยงามจากพื้นที่ศึกษา ซึ่งนักวิจัยให้ชื่อมดชนิดใหม่นี้ว่า “Recurvidris lekakuli Jaitrong, Tokeeree et Pitaktunsakul, 2018” หรือมีชื่อไทยว่า “มดหนามกลับหมอบุญส่ง” ตามชื่อสกุลของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เพื่อให้เกียรติแก่ท่านในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มให้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในประเทศไทย โดยมดชนิดใหม่นี้ได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารด้านอนุกรมวิธานระดับนานาชาติชื่อ “ZooKeys” ฉบับที่ 830 หน้า 53–61 ปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562
มดชนิดนี้เป็นหนึ่งใน 12 ชนิดของสกุลมดหนามกลับที่พบในโลก โดยมีความแตกต่างจากมดชนิดอื่น ๆ ตรงที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก (2.2–2.3 มิลลิเมตร) สีเหลืองสด หัวค่อนข้างกลม ฐานหนวดยาวเลยขอบสันกะโหลกเล็กน้อย ขอบด้านในของกรามมีฟัน 4 ซี่ ขอบฐานกรามมีฟัน 1 ซี่ แผ่นริมฝีปากบนเรียบ อกเรียวยาว ขอบด้านบนของอกปล้องแรกและปล้องที่สองโค้งขึ้น ขอบด้านบนของปล้องท้ายส่วนอกตรง มีหนามปลายแหลมโค้งกลับไปทางด้านหน้า 1 คู่ ขอบท้ายของปล้องท้ายส่วนอกไม่มีสัน ผิวทั้งตัวเรียบเป็นเงามัน บนปล้องท้ายส่วนอกมีขนสั้นเกือบราบไปกับพื้นผิว 2 คู่
มดเป็นแมลงขนาดเล็กที่มีบทบาทมากทั้งการเป็นผู้บริโภคและผู้ช่วยย่อยสลายอินทรียสาร ทั้งยังเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการควบคุมความสมดุลและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศไว้ได้ นอกจากนี้มดชนิดใหม่ที่เราค้นพบสามารถใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ประเภทและคุณภาพของป่าได้ทางหนึ่ง เนื่องจากมดชนิดนี้สามารถพบได้เฉพาะในป่าดิบแล้งที่สมบูรณ์เท่านั้น และยังเป็นมดเฉพาะถิ่นของไทย หากพื้นที่ป่าถูกรบกวน มดชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ไปก็เป็นได้
การค้นพบมดชนิดใหม่ครั้งนี้ทำให้นักวิจัยทราบว่ายังมีสิ่งมีชีวิตอีกหลากหลายชนิดที่เรายังไม่รู้จัก และอาจจะสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะค้นพบตัวของพวกมัน ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้อันเป็นแหล่งอาศัยและสร้างรังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์จึงควรช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอย่างเช่น “ชุมชนบ้านสหกรณ์นิคม” ที่ช่วยกันปกป้องป่าชุมชนของตนเองเป็นอย่างดี จนทำให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าเช่นนี้
ผู้เรียบเรียง : วียะวัฒน์ ใจตรง
ที่มาของภาพ : วียะวัฒน์ ใจตรง
ที่มาข้อมูล : สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ZooKeys ฉบับที่ 830 หน้า 53–61 ปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562)