นักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนาแมลงสาบไซบอร์กกู้ภัย

นักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนาแมลงสาบไซบอร์กกู้ภัย

26-01-2023
แมลงสาปไซบอร์ก

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก เช่น แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติที่มนุษย์ต้องเผชิญ นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศจึงเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์เหล่านี้ ทั้งในด้านของการเตือนภัยก่อนเกิดเหตุ การหลบภัยขณะเกิดเหตุ และการกู้ภัยหลังการเกิดเหตุ

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยริเก็น (RIKEN Research Institute) ประเทศญี่ปุ่น ได้เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีโรโบบั๊ก (RoboBug) แมลงจักรกลที่สามารถค้นหาผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติที่ติดอยู่ในซากปรักหักพัง โดยทีมวิจัยอธิบายว่าได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลแบบไร้สายที่บริเวณช่วงอกของแมลงสาบมาดาร์กัสการ์ (Giant hissing cockroach) ซึ่งเป็นแมลงสาบขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ เพื่อใช้ในการควบคุมแมลงสาบให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ

อุปกรณ์ควบคุมระยะไกลแบบไร้สายสามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของแมลงสาบโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าบริเวณอวัยวะรับความรู้สึกของแมลง (Cercus) กระตุ้นให้แมลงเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งฟิล์มเซลล์แสงอาทิตย์บางเฉียบ (Ultrathin solar cell film) แบบยืดหยุ่นที่มีความหนาเพียง 4 ไมครอน เท่ากับ 1 ใน 25 ของเส้นผมของมนุษย์ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์ควบคุมโดยไม่รบกวนการเคลื่อนไหวของแมลงสาบ ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่นาน 30 นาที แต่สามารถใช้งานได้เพียง 2 นาทีเท่านั้น เนื่องจากอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลแบบไร้สายค่อนข้างใช้พลังงานมาก 

เราอาจคุ้นเคยกับเทคโนโลยีไซบอร์ก (Cyborgs) เป็นเทคโนโลยีการผสมผสานเครื่องจักรกลกับสิ่งมีชีวิต ไม่เพียงใช้ทดแทนอวัยวะเช่นเดียวกับในภาพยนตร์แนวไซไฟ (Sci-fi) ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ความรู้สึกให้เหนือกว่าปกติอีกด้วย ผู้วิจัยเชื่อว่าเทคโนโลยีโรโบบั๊ก หรือแมลงไซบอร์กนี้จะสามารถนำมาใช้ในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพักที่ยากแก่การเข้าถึง นอกจากนี้ยังอาจประยุกต์ใช้สำหรับการเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เสี่ยงภัยอีกด้วย   

ส่วนต่าง ๆ ของแมลงสาป

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

Link ที่เกี่ยวข้อง:

Japan-led researchers develop rechargeable cyborg cockroach. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา: https://www.reuters.com/lifestyle/science/meet-japans-cyborg-cockroach-coming-disaster-area-near-you-2022-09-21/ [23 ตุลาคม 2565]

Meet Japan's cyborg cockroach, coming to disaster area near you. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา:https://sea.mashable.com/tech/21460/technologys-latest-innovation-is-a-remote-controlled-cyborg-cockroach [23 ตุลาคม 2565]

Technology's latest innovation is a remote-controlled cyborg cockroach. [ออนไลน์]. 2022, แหล่งที่มา: https://www.japantimes.co.jp/news/2022/09/24/national/science-health/cyborg-cockroach-study/ [23 ตุลาคม 2565]